เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ จัดให้มีขึ้นทุกๆ 4 ปี ในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยกระบวนการเลือกประธานาธิบดีมีความสลับซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ การเข้าใจระบบการเลือกตั้งจะทำให้ลุ้นผลการเลือกตั้งได้สนุกมากขึ้น
กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น เลือกตั้งสหรัฐฯเมื่อไหร่?
การเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ มีกระบวนการที่สลับซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากแต่ละพรรคเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคของตัวเองก่อน จากนั้นในเดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย. ของปีการเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองจะจัดการประชุมขั้นต้นและการประชุมคอคัสในทั้ง 50 รัฐเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีภายในพรรคของตัวเอง
โดยในการประชุมคอคัส สมาชิกพรรคจะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ดีที่สุดจากการอภิปรายและออกคะแนนเสียงหลายครั้ง แล้วในการเลือกตั้งขั้นต้นจะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ดีที่สุดเพื่อเป็นตัวแทนพรรคในการไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
...
ยังไม่จบแค่นั้น เพราะแต่ละพรรคการเมืองจะจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงคนเดียว และในระหว่างการประชุมนั้น ตัวแทนผู้สมัครชิงประธานาธิบดีก็จะต้องเลือกคู่หูชิงตำแหน่ง ซึ่งก็คือผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย จากนั้นก็จะเป็นการลงพื้นที่หาเสียงของทั้งสองพรรคอย่างเต็มรูปแบบ
ผู้ที่มีส่วนในการเลือกตั้งสหรัฐฯ
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กําหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยวิธีใช้คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งประชาชนจะไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่เลือกผู้ที่จะทําการเลือกประธานาธิบดีแทนพวกเขาสำหรับผู้ที่มีส่วนในการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประกอบด้วย ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ผู้เลือกตั้ง คณะผู้เลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งคือประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป ประชาชนทุกรัฐทั่วประเทศจะไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเพียงเสียงเดียวในวันเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหากไม่สะดวกในวันนั้น โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปรวมตัวกันจำนวนมาก
ส่วนผู้เลือกตั้ง คือ ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง แต่ละรัฐจะคัดเลือก "ผู้เลือกตั้ง" (Electors) รวมกันเป็น"คณะผู้เลือกตั้ง"(Electoral College) ซึ่งจะทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดีหลังวันเลือกตั้งทั่วไป คนทั้งหมดนี้ต้องไม่มีตําแหน่งทางการเมือง และพวกเขาเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เพียงครั้งเดียวก็จะหมดหน้าที่
ความสำคัญของคณะผู้เลือกตั้ง
แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร โดยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมาจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. บวกกับจำนวนวุฒิสมาชิก รัฐละ 2 คนเท่ากันหมดทุกรัฐ รวมทั้งหมดมี 538 คน นั่นหมายถึงว่าบรรดารัฐเล็ก ๆ ที่มีจำนวน ส.ส. เพียง 1 คน ก็จะมีคณะเลือกตั้งรวม 3 คน ดังนั้น รัฐที่มีจำนวนประชากรมากจึงมีความสำคัญมาก เพราะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คะแนนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงแม้จะสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้ชะตาคือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง
การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ใช้ระบบ Winner-Takes-All หรือผู้ชนะกินรวบ หมายถึงว่า ผู้สมัครที่มีคะแนนมหาชนสูงกว่าในรัฐใดรัฐหนึ่งจะกวาดคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมด ระบบนี้ใช้กับ 48 รัฐ และเขตเมืองหลวง คือ วอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนอีก 2 รัฐ คือรัฐเมนกับรัฐเนบราสก้า ใช้ระบบสัดส่วน
คะแนนเสียงที่มาจากประชาชนกาบัตรเลือกตั้งให้ คือ คะแนนมหาชน หรือ Popular Vote แต่คะแนนเสียงที่เป็นตัวตัดสินแพ้ชนะ คือ คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Vote
เมื่อรวมคะแนนทุกรัฐ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งถึง 270 เสียงขึ้นไปก็จะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก อย่างรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุดถึง 55 เสียง จึงเป็นรัฐที่ผู้สมัครต้องขับเคี่ยวกันดุเดือด เพราะหากแพ้คะแนนมหาชนเพียงคะแนนเดียวในรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก ก็จะเสียคะแนนจากคณะเลือกตั้งไปทั้งหมด ซึ่งมีผลสำคัญที่จะเปลี่ยนผู้แพ้ผู้ชนะได้ทันที
กรณีที่ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพ่ายคะแนนมหาชนแต่กลับได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ เคยเกิดมาหลายครั้งแล้ว อย่างการเลือกตั้งในปี 2000 ซึ่งนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากรีพับลิกันได้คะแนนมหาชน 50,456,002 เสียง ในขณะที่นายอัล กอร์ จากเดโมแครตได้ 50,999,897 เสียง แต่คะแนนเสียงจากคณะเลือกตั้งอยู่ที่ 271 ต่อ 266 เสียง นายบุชจึงชนะเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นการชิงชัยกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนางฮิลลารี คลินตัน แม้ว่าเธอจะได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากถึง 65 ล้านเสียง มากกว่าทรัมป์ที่ได้ไป 62 ล้านเสียง แต่คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของนางฮิลลารีได้มาเพียงแค่ 227 เสียง ขณะที่ทรัมป์ได้ถึง 304 เสียงเขาจึงคว้าชัยในครั้งนั้น และได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯได้สำเร็จ
...
โดยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจะเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งในเดือนมกราคม.
...
ที่มา :สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย , BBC