เห็นแค่ชื่อ “ศิลปะการใช้คนในสามก๊ก” หนังสือเล่มล่า ที่บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียง (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.2567) ผมเดาใจตัวเอง อ่านสามก๊กมามากเล่ม จะเป็นใครได้...โจโฉนั่นปะไร!

แต่เมื่ออ่านหัวข้อ “ฝากเล่าเสี้ยน” ผมก็เปลี่ยนใจ

เมื่อเล่าปี่ป่วยหนักใกล้ตาย ขงเบ้งคุกเข่าร้องไห้อยู่หน้าเตียง ขอให้เล่าปี่รักษาตัวให้จงดี ขุนนางทั้งหลายจะพยายามทำการอย่างสุดความสามารถ เพื่อตอบแทนพระคุณเล่าปี่ที่ให้ความไว้วางใจ

เล่าปี่ให้คนประคองขงเบ้งขึ้น มือหนึ่งเช็ดน้ำตา มือหนึ่งจับแขนขงเบ้ง พลางว่า

“ข้าพเจ้าใกล้จะตายแล้ว มีความในใจใคร่แจ้งแก่ท่าน” ขงเบ้งถามว่า “ประสงค์สิ่งใด ขอให้บอก”

เล่าปี่ร้องไห้พลางกล่าวว่า “ปัญญาความคิดของท่านนี้ไม่มีเสมอแล้ว ดีกว่าโจผีสักร้อยส่วน ท่านดูเอาแต่การซึ่งจะทะนุบำรุง

ให้เป็นสุขพอประมาณเถิด ถ้าเห็นลูกเราไม่อยู่ในสัตย์ในธรรม  ทำผิดประเพณีไป ไม่ฟังท่าน

ก็ให้ท่านรักษาเมืองเสฉวน ทำนุบำรุงแผ่นดินเองเถิด”

ขงเบ้งได้ฟังดังนั้น รู้สึกเหมือนถูกฟ้าผ่า ตกใจจนเหงื่อไหล

โซมกาย อ่อนปวกเปียกไปทั้งตัว รีบถอยลงโขกศีรษะกับพื้นดินจนหน้าแตกโลหิตไหล แล้วว่า

“ข้าพเจ้าคิดจะทำนุบำรุงลูกท่านไปกว่าจะตาย อย่าได้คิดว่าข้าพเจ้าจะได้เบียดเบียนลูกชายของท่านเลย”

เนื้อหาสามก๊กตอนนี้ ผู้รู้บอกเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ที่ถูกวิเคราะห์ไปในแง่มุมต่างๆ

ซุนเซิ่งวิจารณ์ว่า “หากเล่าปี่คิดว่าผู้ที่ตนฝากฝังนั้นเป็นนักปราชญ์ผู้ซื่อสัตย์แล้วไซร้ ไม่จำเป็นจะต้องเอ่ย เพราะถ้าแม้ฝากฝังผิดคนเท่ากับชี้โพรงให้กระรอก เปิดโอกาสแก่การแย่งชิงอำนาจ”

...

วาจาอันจอมปลอมเช่นนี้ ที่แท้ไม่ควรพูด

แต่เหมาจงก่างกลับวิจารณ์ว่า “ที่เล่าปี่ให้ขงเบ้งครองอำนาจเอง ถ้าจะว่าจริงก็จริง จะว่าเท็จก็เท็จ เพราะเล่าปี่รู้ดีว่าขงเบ้งจะไม่ทำ

ที่พูดเช่นนี้ก็เพื่อให้ช่วยส่งเสริมเล่าเสี้ยนยิ่งขึ้น”

ทั้งสองผู้วิจารณ์มีเหตุผลพอสมควร แต่เมื่อพิจารณ์ลึกลงไป ล้วนแต่มิได้สัมผัสถึงส่วนลึกแห่งวิญญาณของเล่าปี่ ประโยคที่ว่า ท่านจงทำนุบำรุงแผ่นดินเองเถิด จะเกิดจากความจริงใจหรือไม่?

พิจารณาแล้ว ได้คำตอบในเชิงปฏิเสธ การโอนอำนาจให้เช่นนี้ ในสังคมบุพกาลของจีนเคยมี พระเจ้าเหยาโอนอำนาจให้พระเจ้าซุ่น แต่ระยะหลังยังไม่เคยปรากฏกษัตริย์องค์ไหนยินดีจะโอนอำนาจให้กับคนอื่น

ยุคสามก๊กพระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชสมบัติให้โจผี โจฮวนสละให้สุมาเอี๋ยน เป็นเพียงข้ออ้าง โจผีและสุมาเอี๋ยนพยายามให้เข้าใจว่าได้รับอำนาจถูกทำนองคลองธรรม แต่แท้จริงเป็นการชิงอำนาจอย่างโจ่งแจ้งกระหายเลือด

ในตำนานสามก๊ก เปิดโปงการโอนอำนาจสองครั้งนี้ไว้อย่างแจ่มชัด เล่าปี่เล่า? จะมีข้อยกเว้นหรือไม่?

ไม่มี! เล่าปี่ทำสุดความสามารถ เพื่อให้เล่าเสี้ยนได้สืบอำนาจต่อมาโดยตลอด

เล่าฮอง ลูกเลี้ยงเล่าปี่ กล้าหาญเชี่ยวชาญการรบ สติปัญญาเหนือเล่าเสี้ยนร้อยเท่า ชั่วชีวิตซื่อสัตย์ภักดี...แต่เล่าปี่มองว่าวันหน้าอาจไม่อ่อนน้อมยอมความเล่าเสี้ยน...จึงหาเหตุประหารเล่าฮองเสีย

แท้จริงประโยค ท่านจงทำนุบำรุงแผ่นดินเอาเองเถิด เล่าปี่ บอกเพื่อดักคอขงเบ้ง บังคับขงเบ้งปฏิญาณจะภักดีเล่าเสี้ยน...ต่อหน้าขุนทางทั้งปวง

สมญา สิงห์เฒ่าผู้เจนจบ เล่าปี่ได้จากฝีมือการปกครองที่พิสดารพันลึก หาผู้ใดในสามก๊กใดเทียบไม่ได้เช่นนี้

นี่คือละครบทหนึ่งที่เล่นกันมาในสามก๊กพันแปดร้อยปีที่แล้ว หากสมัยนี้จะมีคนเอามาเล่นกันบ้าง อย่างพี่น้องคู่อาฆาต จะชวนกัน มากินข้าวสักมื้อ ปรับไมตรีกันใหม่ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก

เพียงแต่ละครฉากนี้เล่นพื้นๆ ไม่ลงลึกกินใจ เหมือนฉากเล่าปี่ออกปากฝากเล่าเสี้ยนเท่านั้น.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม