เคยทราบหรือไม่ว่า ยูลิสซิส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เคยเดินทางเยือนสยามในปี พ.ศ. 2422 (ค.ศ. 1879) ในสมัยรัชกาลที่ 5

หลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้เริ่มการเดินทางรอบโลกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งรวมถึงการเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชีย หนึ่งในนั้นคือการมาเยือนสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน

การเยือนสยามครั้งนี้มีความสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สยามในขณะนั้นปกครองโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงให้การต้อนรับนายแกรนต์อย่างดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างของสยามต่อชาติตะวันตกและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น

วันที่ 17 พฤษภาคม 1877 เรือโดยสารชื่ออินเดียนา นำนายแกรนต์และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามกลุ่มหนึ่ง ออกเดินทางจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด เรือแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ไอร์แลนด์และอังกฤษ เพื่อต่อรถไฟท่องยุโรปในฐานะแขกของรัฐบาลเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ อิสราเอล ตุรกี กรีก ฮอลแลนด์ ปรัสเซีย (เยอรมนี) เดนมาร์ก นอร์เวย์-สวีเดน รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี สเปน โปรตุเกส จากนั้นจึงต่อเรือเดินสมุทรอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าสู่อินเดีย พม่า สิงคโปร์ สยาม จีน และญี่ปุ่น

นายแกรนต์เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในปี 2422 หรือ ค.ศ. 1879 และใช้เวลา 6 วันอยู่ที่นี่ ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน โดยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้สร้างภาพพจน์แห่งมิตรภาพและความน่าเชื่อถือไว้จนพัฒนาเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระยะยาวในสมัยต่อๆ มา

ในระหว่างการเยือน นายแกรนต์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทั้งพระมหากษัตริย์และประชาชนสยาม การพบปะกันระหว่างนายแกรนต์และรัชกาลที่ 5 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างสยามและสหรัฐอเมริกา

...

ทั้งนี้ นายแกรนต์ เป็นอดีตแม่ทัพฝ่ายเหนือในสมัยของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เขาได้สร้างวีรกรรมในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐอเมริกันฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างคน 2 ฝ่าย และความต้องการจะเลิกทาสของชาวอเมริกันฝ่ายเหนือ ซึ่งท้ายที่สุดต้องตัดสินกันด้วยการทำสงคราม โดยที่ฝ่ายเหนือเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งนอกจากจะสามารถยกเลิกระบบทาสได้แล้ว ชาวภาคเหนือยังเป็นผู้ควบคุมนโยบายหลักของรัฐบาลกลางในการบริหารงานของประเทศทันทีหลังจากสงครามยุติ

คาดว่าสาเหตุหลักของการเดินทางเยือนสยาม ก็เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตนเองต่อโลกภายนอก ด้วยการเดินทางเที่ยวรอบโลก ภายหลังที่ต้องตรากตรำกับสงครามกลางเมืองยาวนานถึง 8 ปี และการที่ต้องรับภาระหนักในตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันติดต่อกันถึง 2 สมัย รวม 8 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1868 - 1876.

ที่มา PBS  silpa-mag Great Big Story

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign