กองทุนสัตว์ป่าโลก เปิดเผยในรายงานล่าสุดว่า ประชากรสัตว์ป่าลดลงถึง 73% นับตั้งแต่ปี 1970 หรือ กว่า 50 ปี

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดเผยว่า ประชากรสัตว์ป่าของสัตว์ที่ทำการตรวจสอบ ลดลงกว่า 73% ในช่วง 50  ปีที่ผ่านมา 50

ตามการประเมินครั้งล่าสุดของ WWF ที่เผยแพร่วันนี้ (10 ต.ค.) ในรายงาน "ลีฟวิง แพลเน็ต รีพอร์ต 2024" (LIVING PLANET REPORT 2024) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลจากประชากร 35,000 ตัว จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และปลา กว่า 5,000 สายพันธุ์ แสดงให้เห็นการลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก

ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เช่น ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ตัวเลขการสูญเสียประชากรสัตว์สูงถึง 95% รายงานดังกล่าวติดตามแนวโน้มความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์จำนวนมาก ไม่ใช่จำนวนสัตว์รายตัว โดยพบว่าประชากรสัตว์ที่ถูกตรวจสอบลดลง 73% ตั้งแต่ปี 1970 ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์

ดัชนีดังกล่าวได้กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงระดับนานาชาติ และเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติครั้งต่อไป ซึ่งจะเน้นถึงประเด็นนี้ในการประชุมที่ประเทศโคลอมเบียในช่วงปลายเดือนนี้

ดาวดี ซุมบา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์ของ WWF กล่าวว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  รายงานดังกล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการเผชิญหน้ากับวิกฤตที่เชื่อมโยงกัน ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำลายธรรมชาติในเวลาเดียวกัน และเตือนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำลังใกล้เข้ามาของระบบนิเวศบางแห่ง เขายังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอาจย้อนกลับไม่ได้และส่งผลร้ายแรงต่อมนุษยชาติ โดยอ้างตัวอย่างการตัดไม้ทำลายป่าในเขตแอมะซอน ซึ่งอาจ เปลี่ยนระบบนิเวศที่สำคัญนี้จากแหล่งดูดซับคาร์บอนไปเป็นแหล่งผลิตก๊าซคาร์บอน

...

รายงานระบุว่า ความเสื่อมโทรมและการสูญเสียที่อยู่อาศัย ซึ่งเกิดจากระบบอาหารของมนุษย์เป็นหลัก เป็นภัยคุกคามที่มีการรายงานมากที่สุดในแต่ละภูมิภาค รองลงมาคือ การใช้ทรัพยากรมากเกินไป การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น และโรคระบาด ขณะที่ภัยคุกคามอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่พบมากเป็นพิเศษในเขตละตินอเมริกาและแคริบเบียน และมลพิษ ในอเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิก

รายงานระบุพบการลดลงมากที่สุดในประชากรของสัตว์น้ำจืด รองลงมาคือสัตว์มีกระดูกสันหลังบนบกและในทะเล หากพิจารณาตามทวีป พบว่าการลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 95% ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน รองลงมาคือแอฟริกา ซึ่งลดลง 76% และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งลดลง 60%

รายงานยังระบุว่า ประชากรสัตว์บางส่วนมีจำนวนคงที่หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากความพยายามในการอนุรักษ์และการนำสายพันธุ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น กระทิงป่ายุโรปที่หายไปเมื่อปี 1927 แต่ในปี 2020 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 6,800 ตัว เนื่องมาจากการเพาะพันธุ์จำนวนมาก และการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่คุ้มครอง

เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของ WWF กล่าวว่าภาพรวมมีความน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ ยังคงไม่ถึงจุดที่ไม่สามารถถอยหลังกลับได้ และชี้ให้เห็นถึงความพยายามทั่วโลก รวมถึงข้อตกลงที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นในการประชุมสหประชาชาติครั้งล่าสุดเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในปี 2022 เพื่อปกป้องพื้นที่ 30% ของโลกภายในปี 2030 จากมลพิษ ความเสื่อมโทรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ กล่าวหา WWF ว่ามีอคติเชิงวิธีการในดัชนี ซึ่งทำให้จำนวนสัตว์ลดลงเกินจริง

แอนดรูว์ เทอร์รี จากสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน กล่าวว่ามีความมั่นใจต่อความแข็งแกร่งของข้อมูล โดยเน้นถึงการใช้ตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่ครอบคลุมความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพของระบบนิเวศ เพื่อขยายภาพดังกล่าวให้กว้างขึ้น.

ที่มา AFP

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign