เราต่างรู้กันมานานแล้วว่า “กีฬา” ถูกนำไปเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ กีฬามีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอิทธิพลที่เป็นอันตราย และเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน อย่าง “ฟุตบอล” ที่เป็นกีฬายอดนิยมของโลก เนื่องจากเข้าถึงง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้มีบทความในเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชัน ได้เขียนถึงการใช้กีฬาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ระบุว่า “ฟุตบอล” สามารถปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำของอังกฤษ อาจช่วยหยุดการกระทำผิดซ้ำได้

เรือนจำในมณฑลเดอรัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ก็ได้มีโครงการฝึกสอนฟุตบอลเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักโทษมีทักษะความเป็นผู้นำ มีทักษะและเทคนิค เพื่อปรับปรุงโอกาสในการหางานเมื่อได้รับการปล่อยตัว เชื่อว่าวิธีนี้จะลดโอกาสที่พวกเขาจะกลับมาก่ออาชญากรรมอีก

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเดอะ ทวินนิ่ง โปรเจกต์ (The Twinning Project) ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติ มีเป้าหมายสร้างความสัมพันธ์ที่ดี พัฒนาความสามารถส่วนบุคคล ส่งเสริม สุขภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อให้นักโทษมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นหลังพ้นโทษ เดอะ คอนเวอร์เซชัน เผยผลสำรวจอัตราส่วนของนักโทษที่คิดว่าตนเองจะบรรลุเป้าหมายได้ จากตัวเลข 29% ก่อนเข้าร่วมโครงการ พบว่าหลังจากร่วมโครงการแล้วตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 41% ขณะที่ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นจาก 74% มาเป็น 89%

ทั้งนี้ การหวนกลับมากระทำผิดซ้ำของนักโทษ ทำให้อังกฤษต้องใช้จ่ายเงินถึง 18,000 ล้านปอนด์ต่อปีหรือราว 784,580 ล้านบาท มากกว่าที่รัฐบาลใช้จ่ายไปกับสิ่งแวดล้อมหรือที่อยู่อาศัย

ดังนั้น การปรับปรุงความเป็นอยู่ของนักโทษให้ดีขึ้น จึงไม่ใช่แค่การทำให้เรือนจำปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเช่นกัน.

...

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม