ผู้อ่านท่านที่เคารพจะรู้สึกอย่างไร หากพบว่าคนที่ท่านรู้จักตายอย่างโดดเดี่ยว หรือเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ สหประชาชาติคาดว่าประชากรสูงวัยหรืออายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นแนวโน้มระดับโลก สถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศต่างๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก

ศุกร์ 4 ตุลาคม 2024 เปิดฟ้าส่องโลกนำเสนอเรื่อง ผู้สูงวัยในจีน ปัญหาใหญ่อันเกิดจากนโยบายมีลูกคนเดียวที่ใช้มานาน 30 ปี ทำให้ประชากรชายหญิงไม่สมดุล รวมทั้งอัตราการเกิดของเด็กจีนที่ลดลงเหลือเพียงปีละ 9 ล้านคนเท่านั้น และถ้าอัตราการเกิดของจีนยังอยู่ในระดับนี้ ภายใน ค.ศ.2050 ประชากรวัยทำงานของจีนจะลดลงจาก ค.ศ.2010 เกือบร้อยละ 40 หากรัฐบาลจีนแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ในอนาคตจะสร้างความยุ่งยาก อาจจะถึงขนาดทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ไหว

นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ซึ่งมาจากจำนวนประชากรวัยแรงงานที่ลดลง และจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นซึ่งมีประชากร 123 ล้านคน ยังเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อีกด้วย

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานข้อมูลถึงวันที่ 1 กันยายน 2024 ญี่ปุ่นมีประชากรที่มีอายุครบ 100 ปีขึ้นไปมากถึง 95,119 คน เพิ่มขึ้น 2,980 คน จากปีก่อน ส่วนยอดคนเกษียณอายุครบ 65 ปีพุ่งไปที่ 36.25 ล้านคนหรือร้อยละ 29.3 นี่คือปัญหาสังคมที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังแก้ไม่ตก

...

ด้วยความที่ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ญาติสายตรงถึงลำดับที่ 3 รวมถึงเหลน และลูกสาวหรือลูกชายของหลานให้สนับสนุนดูแลสมาชิกครอบครัวผู้สูงอายุ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือทำหน้าที่ค้ำประกันที่โรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา แม้แต่การรับรองศพ สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่ไม่มีญาติสนิทหรือไร้ญาติ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค.ศ.2050 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุไร้ญาติในญี่ปุ่นมากขึ้นถึง 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 10

คนญี่ปุ่นมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นน้อยมาก รวมทั้งปัญหาการไร้ญาติขาดมิตรส่งผลไปถึงการตายอย่างโดดเดี่ยว เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้รับการใส่ใจจากใคร กว่าจะรู้ว่าคนสูงอายุลาโลกไปแล้วเวลาก็ผ่านไปนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือเป็นปี ที่รู้ว่ามีคนตายเพราะมีคนไปเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า ที่ค้างชำระเป็นเวลานาน

รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานยอดผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเป็นทางการครั้งแรกในปีนี้ ทำให้เราทราบว่า ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2024 มีผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและไม่มีใครพบศพ เป็นเวลานานมากถึง 2.2 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย และคาดว่าตลอดทั้ง ค.ศ.2024 จะมีผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่นมากถึง 8.8 หมื่นคน

ความอ้างว้างโดดเดี่ยวในบั้นปลายชีวิต ทำให้คนชราที่ไร้ญาติ ขาดมิตรบางคนตัดสินใจทำผิดกฎหมายเพื่อให้ได้เข้าคุก เพื่อให้ได้มีที่อยู่ ที่กิน ที่รักษาพยาบาล มีเพื่อนให้พูดคุย มีกิจกรรมให้ทำ อยู่ได้ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ผู้สูงวัยที่ตั้งใจติดคุกบอกว่า การใช้ชีวิตในคุกดีกว่าการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและยากจนภายนอก

ส่วนคนสูงวัยที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิตต่อไป ค.ศ.2023 แรงงานญี่ปุ่นที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากเป็นประวัติการณ์ถึง 9.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่าจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เฉพาะแรงงานอายุ 75 ปีขึ้นไป ที่ไม่น่าจะทำงานไหวแล้ว มีจำนวนมากถึงร้อยละ 11.4

ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หวังว่าสังคมของเราจะไม่เดินไปถึงจุดที่ปล่อยให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเป็นจำนวนมากเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นเจอครับ.


นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม