การแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในอดีตกาล ส่งผลให้ ภาษาของเขาเหล่านั้นเข้าไปฝังรากฐานในนานาประเทศ และถูกใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในนั้นคือภาษา “ฝรั่งเศส” ที่ถูกใช้เป็นภาษาราชการหรือใช้เป็นภาษาหลักของประชากรในทวีปต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่ทุกวันนี้ก็ยังสอนแพร่หลายในชั้นการศึกษาระดับมัธยมของโรงเรียนต่างๆมากมาย
ด้วยจำนวนคนพูดภาษาฝรั่งเศสมากกว่า 320 ล้านคนทั่วโลก จึงเป็นที่มาของความริเริ่มผนึกกำลังกลุ่มประเทศที่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศส parler Francais นามว่าองค์การระหว่างประเทศชาติใช้ภาษาฝรั่งเศส (OIF) และจัดการประชุมภายใต้ชื่อว่า “Francophonie Summit” (ฟรังโคโฟนี) ซึ่งปีนี้ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับเกียรติจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้เข้าร่วมงาน ณ กรุงปารีส ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อสร้างการรับรู้ความเป็นมา และทิศทางที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้น
แถมเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสในอนาคตหรือไม่ หลังจากพรายฝรั่งกระซิบกระซาบมาว่า เราถูกระงับสถานะชาติผู้สังเกตการณ์ (Observer) หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 แต่มาบัดนี้กลับมาเป็นรัฐบาลพลเรือนดังเดิม โอกาสต่างๆที่จะสืบสานเชื่อมโยงก็ย้อนกลับมาเหมือนเดิม?
ทั้งนี้ การประชุมฟรังโคโฟนี ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคสงครามเย็น เมื่อกว่า 5 ทศวรรษก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ก่อนพยายามขยายความร่วมมือไปยังมิตรประเทศที่สนใจ จนทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 88 ประเทศ และ เขตปกครองจากทุกทวีป แบ่งเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ 54 ประเทศ สมาชิกหุ้นส่วน 7 ประเทศ และสมาชิกผู้สังเกตการณ์อีก 27 ประเทศ มีกำหนดจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี
...
สำหรับปีนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้นำหรือตัวแทนระดับสูงเข้าร่วมมากมาย รวมถึงชาติเพื่อนบ้านของไทย เช่น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว หรือนายโต เลิ่ม ประธานาธิบดีเวียดนาม ขณะที่การประชุมสุดยอดรอบหน้าประจำปี 2569 มีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา
แม้ใจความสำคัญของการประชุมรอบนี้ จะมีการกำหนดหัวใจไว้ในเรื่องของ “นวัตกรรม” แต่สัญญาณที่ได้รับชัดเจนจากการนั่งสนทนากับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับอธิบดี และที่ปรึกษาระดับสูง (ซึ่งถูกขอไว้ว่าอย่าใส่ชื่อนามสกุลหรือชื่อกระทรวง) ต่างเน้นย้ำถึง ระบบออนไลน์ ที่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทำให้ภาษาฝรั่งเศสอ่อนกำลังลงไปอย่างต่อเนื่อง
“ไม่มีทางที่ภาษาฝรั่งเศสจะอยู่ในขาลง นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น” พร้อมประเมินตัวเลขว่า คนพูดฝรั่งเศสจะขยับจาก 320 ล้านกลายเป็น 500-700 ล้านในอนาคต (วัดจากจำนวนประชากรในภายภาคหน้า) ข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งบอกกับทีมข่าวอย่างมั่นใจ แต่หลังจากถูกซักไซ้เพิ่มเติม ประกอบกับเสียงสมทบจากนักข่าวชาติแอฟริกาเหนือและชาติหมู่เกาะแปซิฟิก จึงเริ่มที่จะยอมรับในเวลาต่อมา ว่า เข้าใจในเรื่องที่คนรุ่นใหม่มองเห็นความจำเป็น ที่จะต้องใช้ “ภาษาอังกฤษ” เป็นใบเบิกทางในการใช้ชีวิต
และปัญหาในเรื่องการ “เข้าถึง” คอนเทนต์ ภาษาอื่นๆในปัจจุบันที่มาสอดรับให้แย่ลง เปิดเว็บไซต์ออนไลน์ขึ้นมาสิ่งที่เห็นก็มีแต่อังกฤษเต็มไปหมด ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีออนไลน์ยักษ์ใหญ่ใช้ภาษาอะไรคงรู้กันดี
อย่างไรก็ตาม อยากให้มองว่า การส่งเสริม กลุ่มคนใช้ภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่การประจันหน้าแข่งขันเอาชนะกับภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ แต่เป็นความพยายามนำเสนอทางเลือกแก่ทุกคน ลองมาเรียนรู้ดูไหมว่า กลุ่มคนที่ใช้ภาษานี้เป็นเช่นไร มีอะไรที่น่าค้นหาหรือไม่ ระบบการศึกษาแบบฟรังโคโฟนีเป็นเช่นไร
เชื่อว่าความหลากหลาย ความแตกต่างคือสิ่งสำคัญ บางบริษัทดีลกับเราบอกว่าผมไม่พูด ภาษาคุณ ก็ไม่เป็นไร เรายังค้าขายกันได้ แต่เวลา ผ่านไป บริษัทดังกล่าวมีทีมงานที่พูดฝรั่งเศสได้มาร่วม กลายเป็นว่าทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เข้าใจในแนวความคิดของกันและกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
การมีภาษาเดียวในยุคปัจจุบันถือเป็นการปิดโอกาสที่มีอยู่มากมาย อย่างเครือข่ายด้านการศึกษาฝรั่งเศส (AEFE) ใน 137 ประเทศรวมประเทศไทย ก็เน้นความสำคัญเรื่องภาษาบ้านเกิด และภาษาต่างแดนที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กนักเรียนเติบโตมาอย่างมีทางเลือก ถามว่าเทคโนโลยีแปลภาษาพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วย มันช่วยให้ง่ายขึ้น แต่ลองนึกภาพดูว่า การใช้ภาษาอย่างคล่องแคล่วได้สร้างความประทับใจให้แก่คู่สนทนาไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเจรจาต่อรองที่จะเกิดขึ้นตามมา การใช้ “ความเป็นคน” เติมเข้าไป เชื่อว่าจะเพิ่มคุณค่าได้มากกว่า
การเดินทางไปสำรวจ “แพลตฟอร์ม” ฟรังโคโฟนีครั้งนี้ ทีมข่าวยังตั้งคำถามว่า การจะเรียนรู้ภาษาหนึ่ง ขึ้นกับมุมมองต่อคนชาตินั้นๆ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับกลับมา ซึ่งสำหรับฝรั่งเศสมีภาพลักษณ์ฝังหัวผู้คนว่า เป็นชนชั้นสูง มีความพอชอยู่ในตัว เยอรมันก็แข็งกระด้าง รัสเซียก็ไร้อารมณ์ สิ่งเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ที่จะมีการปรุงแต่งสักเล็กน้อย เพื่อสร้างความดึงดูดเพิ่มขึ้น ข้าราชการหลายคนนิ่งเงียบไปสักครู่ ก่อนตอบว่า มุมมองแบบนี้ ก็จริงอยู่ เหมือนอย่างช่วงหนึ่งสถาบันเกอเธ่ ของเยอรมนี พยายามโปรโมตว่า เรามีความสละสลวยและโรแมนติกไม่ต่างกับคนอื่นๆนะ
...
นี่แหละคือสิ่งที่พยายามหาทางอยู่เช่นกัน เพื่อหาโอกาสที่จะทำให้ผู้คนรับรู้ว่า ใน “พื้นที่” แห่งนี้มีใครอะไรและเป็นยังไง ซึ่งเราหวังว่าการประชุมรอบนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะแนวทางที่จะทำให้เครือฟรังโคโฟนีมีการเข้าถึงได้มากขึ้นตามแพลตฟอร์มเทคโน โลยีต่างๆ ประมาณกลางปีหน้า เชื่อว่าน่าจะมีผลลัพธ์ให้ได้เห็นกัน.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม