หนึ่งในประเทศที่ต่อไปในอนาคตอาจมีปัญหามากคือสาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายมีลูกคนเดียวที่ใช้มานาน 30 ปี ทำให้ประชากรชายหญิงไม่สมดุล เมื่อเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ลง ทำให้ความต้องการมีลูกของคู่สมรสชาวจีนลดลงไปมาก แต่ละปีมีการเกิดของเด็กจีนปีละ 9 ล้านคนเท่านั้น ถ้าอัตราการเกิดของจีนยัง อยู่ในระดับนี้ ภายใน ค.ศ.2050 ประชากรวัยทำงานของจีนจะลดลงจาก ค.ศ.2010 เกือบร้อยละ 40

จีนจะกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนของคนเฒ่าชะแรแก่ชรา ค.ศ.1960 คนจีนมีอายุเฉลี่ย 44 ปี ค.ศ.2021 คนจีนมีอายุเฉลี่ย 78 ปี และ ค.ศ.2050 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า คนจีนจะมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 80 ปี

ผู้ชายจีนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ส่วนผู้หญิงจีนที่ทำงานออฟฟิศเกษียณที่ 55 ปี ผู้หญิงจีนทำงานในโรงงานเกษียณที่อายุ 50 ปี ความที่มีผู้สูงวัยมากขึ้นและมีคนอยู่ในวัยทำงานน้อยลง ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนอายุเกษียณ

1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป ชายจีนจะเกษียณเมื่ออายุ 63 ปี หญิงจีนทำงานออฟฟิศเกษียณที่ 58 ปี หญิงจีนทำงานโรงงานเกษียณที่อายุ 55 ปี ส่วนการจ่ายเงินเข้าระบบบำนาญเพื่อให้มีสิทธิได้รับบำนาญ เดิมคนจีนจ่ายเงินเข้าระบบเพียง 15 ปีก็สามารถรับบำนาญได้แล้ว แต่ตอนนี้ต้องจ่ายเงินเข้าระบบนานถึง 20 ปี

กองทุนประกันสังคมของจีนมีมูลค่า 2.88 ล้านล้านหยวน (เกือบ 15 ล้านล้านบาท) ถ้ารัฐบาลจีนบริหารกองทุนประกันสังคมผิดพลาด อาจจะทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านอดอยากหิวโหย ถ้ากองทุนประกันสังคมเจ๊ง รัฐบาลจะเอาสตางค์ที่ไหนมาให้คนเกษียณ

ภาระหนักสุดในขณะนี้เป็นของเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อกองทุนประกันสังคมซึ่งต้องหารายได้ให้กองทุนประกันสังคมด้วยการเอากองทุนบำนาญไปลงทุนในตลาดทุน หากลงทุนที่ผิดพลาด นั่นหมายถึงคนเฒ่าชะแรแก่ชราของจีนจะมีปัญหาในด้านการดำรงชีวิตในบั้นปลายแน่นอน

...

การศึกษาเรื่องกองทุนประกันสังคมและการเกษียณของจีนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าจีนประสบความสำเร็จ เราสามารถนำวิธีการของจีนมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปลองผิด ลองถูกให้เสียเวลา จีนกับไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง หากเศรษฐกิจจีนกระทบ ความมั่งคั่งของจีนลดลง ก็จะกระทบกับความมั่งคั่งของไทยด้วย

ค.ศ.2021 จีนมีประชากร 1,412.6 ล้าน ค.ศ.2022 เหลือ 1,411.75 ล้าน (ลดลง 8.5 แสน) ค.ศ.2023 เหลือ 1,409.7 ล้าน (ลดลง 2.08 ล้าน) ปัจจุบันไทยมีรายได้ต่อหัวประชากร 2.5 แสนบาท จีนมีรายได้ต่อหัว 4.6 แสนบาท ระหว่าง ค.ศ.1979-2023 (45 ปี) เศรษฐกิจจีนโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ค.ศ.2022 จีดีพีของจีนอยู่ที่ 655.7 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ (929.4 ล้านล้านบาท)

มองเผินๆดูเหมือนว่าจีนมีอนาคต แต่ถ้ามองในมุมที่นักลงทุน จีนพยายามย้ายออกนอกประเทศ จีนเริ่มมีภาวะเงินฝืด ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนถดถอย การบริโภคของคนจีนลดลง ประชากรจีนในวัยแรงงาน (15-59 ปี) ลดลงถึง 11 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว แต่ประชากรจีนที่มีอายุเกิน 60 ปี มีมากถึงร้อยละ 20 ของคนทั้ง ประเทศแล้ว จีนก็ไม่ใช่ประเทศในฝันอีกต่อไป

ชราภิทูตของประชากรจีนทำให้เดือนมกราคม 2024 รัฐบาลจีนต้องประกาศนโยบายเศรษฐกิจสีเงิน หรือ Silver Economy ซึ่งหมายถึง “เศรษฐกิจผู้สูงวัย” เพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น สภามนตรีของจีนวางกรอบและสร้างเป้าหมายเพื่อระดมประชาสังคมเพื่อตอบสนองปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างเข้มข้น

ผู้อ่านท่านผู้เจริญ ความอยู่รอดหรือความล่มจมของประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในวัยทำงาน รัฐบาลต้องดูแลผู้สูงวัยซึ่งในอดีตผู้คนเหล่านี้เคยช่วยก่อร่างสร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจจนประเทศโตได้

หากรัฐบาลไม่ได้สนใจประเด็นนี้และนำไปแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะสร้างความยุ่งยาก และอาจจะถึงขนาดทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ไหว.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม