นายอิชิบะ ชิเงรุ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น หรือ แอลดีพี ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นายอิชิบะจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

การชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแทนนายฟูมิโอะ คิชิดะ เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม เมื่อเขาประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งจากเรื่องอื้อฉาวหลายกรณีที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ จากผู้สมัคร 9 คนซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด นางซานาเอะ ทาคาอิจิ วัย 63 ปี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และนายชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดและผ่านเข้ารอบที่สอง ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดในเวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

พรรคแอลดีพี ซึ่งปกครองญี่ปุ่นมาเกือบตลอดช่วงหลังสงคราม และมีเสียงข้างมากในรัฐสภา จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือนตุลาคม 2025

ในความคิดเห็นสั้นๆ ที่กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภา ก่อนการเลือกตั้งรอบสอง นายอิชิบะเรียกร้องให้ญี่ปุ่นมีความยุติธรรมและใจดีกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่นางทาคาอิจิกล่าวว่า เธอต้องการสร้างประเทศที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองได้

นายอิชิบะแสดงการสนับสนุนนโยบายก้าวหน้าทางสังคมบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้คู่สมรสใช้ชื่อสกุลแยกกันได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ทาคาอิจิและสมาชิกรัฐสภาพรรคแอลดีพี ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ แสดงการคัดค้าน

ส่วนนางทาคาอิจิ ผู้สนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ "อาเบะโนมิกส์" ของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ อาจเป็นตัวเลือกที่สำคัญที่สุด ไม่น้อย เพราะเธอจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เธอมักวิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อความพยายามของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ห่างจากระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ นักยุทธศาสตร์ตลาดกล่าวว่า หากเธอได้รับเลือกอาจกระตุ้นให้เกิดการเทขายเงินเยน 

...

การลงคะแนนเสียงจะจำกัดเฉพาะสมาชิกรัฐสภาจากพรรคแอลดีพี และสมาชิกพรรคที่จ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในประเทศเท่านั้น โดยในรอบแรก ส.ส. พรรคจะลงคะแนนเสียง 368 เสียง ตามด้วยคะแนนเสียงอีก 368 เสียง เพื่อเป็นตัวแทนของฐานสมาชิกพรรคประมาณ 1.1 ล้านคน หากไม่มีใครชนะเสียงข้างมาก ผู้สมัคร 2 อันดับแรกจะต้องเลือกตั้งใหม่ จากนั้นรัฐสภาจะประกาศผู้ชนะในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม

โดยการลงคะแนนเสียงในอดีตมักจะถูกกำหนดโดยผู้นำฝ่ายที่มีอำนาจในพรรค แต่ครั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากฝ่ายต่างๆ เกือบทั้งหมดในจำนวน 6 ฝ่าย ได้ประกาศยุบกลุ่มหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต

ผู้เชี่ยวชาญต่างวิตกกังวลว่าการปราศจากลุ่มสนับสนุนผู้ชนะ อาจส่งผลให้ญี่ปุ่นกลับไปสู่ยุคที่คล้ายกับช่วงต้นทศวรรษปี 2000 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำแบบ "ผลัดเปลี่ยนกัน" และความไม่มั่นคงทางการเมือง ขณะที่การที่รัฐบาลมีอายุสั้นติดต่อกัน ส่งผลกระทบต่อความสามารถของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการกำหนดเป้าหมายนโยบายระยะยาวหรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกับผู้นำคนอื่นๆ.

ที่มา Reuters

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign