ละอองลอย คืออนุภาคขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศ มาจากทั้งแหล่งธรรมชาติ เช่น ฝุ่น เถ้าภูเขาไฟ ละอองทะเล และจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ก็คืออนุภาคหรือละอองลอยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมของมนุษย์ราว 30 เท่า

อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจ

ในปี พ.ศ.2563 โครงการปรับตัวต่อสภาพอากาศและการตรวจสอบคุณภาพอากาศของ Greening Diplomacy Initiative ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับองค์การนาซา สหรัฐฯ ได้จัดทำข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ที่เรียกว่า ZephAir ทำหน้าที่พยากรณ์คุณภาพอากาศ 3 วัน เน้นไปที่การตรวจวัด PM 2.5 โดยวางเป้าหมายให้เป็นเครื่องสำหรับสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ประมาณ 270 แห่งทั่วโลก

ปัจจุบัน ZephAir ได้รับการปรับปรุงให้พยากรณ์ PM2.5 สำหรับทุกสถานที่โดยใช้การประมวลผลล่วงหน้าของ Goddard Earth Observing System Forward Processing (GEOS FP) ซึ่งเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์สภาพอากาศและภูมิอากาศ โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนุภาคขนาดเล็กหรือละอองลอยจากระบบ MODIS (Moderate-resolution Imaging Spectroradiometer) บนดาวเทียมเทอร์รา และอควาของนาซา

การพยากรณ์แบบใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะปกป้องพลเมืองสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่สถานทูตในพื้นที่ประเทศต่างๆ เท่านั้น...แต่ยังมีส่วนสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ ของสหรัฐฯ ในการบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางอากาศทั่วโลกเช่นกัน.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม

...