นักวิจัยนิวซีแลนด์ประกาศการค้นพบ “ฉลามผี” สายพันธุ์ใหม่ ที่ใต้ทะเลทางตะวันออกของประเทศ มีลักษณะเด่นคือจมูกยาวมาก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ของประเทศนิวซีแลนด์ ยืนยันการค้นพบ “ฉลามผี” (ghost shark) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นปลาหายากที่แทบจะไม่มีคนเคยพบเห็น เนื่องจากมันอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกมาก บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมันได้รับการตั้งชื่อว่า “ปลาสุปฟิชจมูกแคบออสเตรลาเซียน” (Australasian Narrow-nosed Spookfish)

ปลาฉลามผี ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า สปุกฟิช หรือปลาคิเมรา มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับฉลามและกระเบน พวกมันไม่มีเกล็ด และกระดูกของมันเป็นกระดูกอ่อนทั้งหมด

ดร.บริท ฟินุชชี หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ ปลาสุปฟิชจมูกแคบออสเตรลาเซียน ระบุว่า นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก “ถิ่นที่อยู่ของมันทำให้ยากต่อการศึกษาและสังเกตการณ์พวกมัน หมายความว่า เราไม่รู้ข้อมูลทางชีวิวอทยา หรือระดับความเสี่ยงสูญพันธุ์ของพวกมันมากนัก”

ดร.ฟินุชชีกับนักวิจัยคนอื่นๆ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยบรรยากาศและน่านน้ำ (Niwa) พบปลาตัวนี้บริเวณพื้นมหาสมุทรที่รู้จักกันในชื่อ “แชทแฮม ไรส์” (Chatham Rise) ทางตะวันออกของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทวีป ซีแลนเดีย ทอดยาวประมาณ 1,000 กม. จากบริเวณใกล้ เกาะใต้ ทางตะวันตกไปจนถึง หมู่เกาะแชทแฮม ทางตะวันออก

ตามปกติแล้ว ฉลามผีจะใช้ชีวิตอยู่ที่ความลึกมากสุด 2,600 ม. ขณะที่แชทแฮม ไรส์ ถือเป็นพื้นทะเลที่ค่อนข้างตื้น ไม่มีจุดในเลยที่ลึกกว่า 1,000 กม.

ดร.ฟินุชชีกล่าวว่า ปลาสายพันธุ์ที่พบใหม่นี้ มีความโดดเด่นตรงจมูกที่ยาวผิดปกติ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัวเลยทีเดียว

...

เธอตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้มันว่า “ฮาร์ริออตตา อาเวีย” (Harriota avia) “อาเวียหมายถึง ยาย ในภาษาละติน ฉันอยากแสดงการยอมรับปลตัวนี้ เพราะมันสนับสนุนฉันอย่างภาคภูมิ ตลอดการทำอาชีพนักวิทยาศาสตร์ของฉัน” นอกจากนั้น “ปลาคิเมรายังเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ เป็นปู่หรือย่า ของปลาตัวอื่นๆ ฉันจึงคิดว่า ชื่อนี้เหมาะสมดี”

ทั้งนี้ หลังจากค้นพบครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์คิดว่าปลาตัวนี้เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบไปทั่วโลก แต่การศึกษาในภายหลังทำให้พบว่า มันมีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับญาติของมัน และอาศัยอยู่เฉพาะในน่านน้ำของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์บอกด้วยว่า การค้นพบแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเรียนรู้การใช้ชีวิตของสายพันธุ์ต่างๆ ให้มากขึ้น จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญหาวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องพวกมันได้

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc