เป็นประเด็นที่สร้างความสั่นสะเทือนในแวดวงความมั่นคงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอุปกรณ์ส่งข้อความสั้นยุคเก่า “เพจเจอร์” และ “วิทยุสื่อสาร” เกิดระเบิดพร้อมๆ กันในประเทศ “เลบานอน” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 37 ศพ บาดเจ็บมากกว่า 3,600 คน

ตามด้วยข้อกล่าวหาอันดังอื้ออึง ว่าเป็นฝีมือหน่วยข่าวกรอง “มอสสาด” อิสราเอล ที่มีเป้าประสงค์เล่นงานหนึ่งในศัตรูคู่อาฆาต สมาชิกกองกำลังติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” ที่ฝังรากลึกอยู่ในเลบานอน

แม้ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะยังไม่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น แต่รูปการณ์ต่างบ่งชี้ว่า ผู้ลงมือคิดวิเคราะห์มาแล้วอย่างแยบยล รับรู้ว่าสิ่งจำเป็นในการสื่อสารของสมาชิกกลุ่มเฮซบอลเลาะห์คือ “วิทยุสื่อสาร” สำหรับการใช้ในงานภาคสนาม สั่งงานเร่งด่วนระหว่างหน่วยแนวหน้า

และเพจเจอร์สำหรับการสื่อสารแบบ “โลว์เทค” สำหรับหน่วยหลังแนวรบ ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของ ไซยิด ฮาสซาน นาสรัลเลาะห์ แกนนำเฮซบอลเลาะห์ที่ประกาศเตือนเหล่านักรบเมื่อเดือน ก.พ.ว่า มือถือสมาร์ทโฟนไม่ต่างอะไรเลยกับ “สายลับ” ศัตรูสามารถดักฟังเสียง ข้อมูลต่างๆ ไปจนถึงตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างละเอียด

และกลายเป็นที่มาของปฏิบัติเหนือเมฆ “ฝังดินระเบิดแรงสูง” ไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อหวังให้ระเบิดใส่หน้า แถมมีความพิเศษคือ เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างยาวนาน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวความมั่นคงบางส่วนอ้างถึงขั้นว่า “ผู้ก่อการ” ได้สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิต ไว้สำหรับ “วางยา” ศัตรูตั้งแต่ 15 ปีก่อน เปิดบริษัทการค้าอย่างถูกต้อง ทำมาค้าขายไปตามปกติ

เฝ้ารอวันเวลาที่ข้าศึกจะพลั้งเผลอพลาดท่า สั่งซื้ออุปกรณ์ “สังหาร” ไปใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์ติดระเบิดชุดดังกล่าวนี้ (เกิน 3,000 เครื่อง) ก็มีรายงานว่าถูกจัดส่งไปยังเลบานอนในช่วงเวลาไม่นานหลังจากแกนนำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ประกาศมาตรการให้สมาชิกลดละเลิกใช้โทรศัพท์ส่วนตัว

...

ในวันเหตุการณ์ 17 ก.ย. มีรายงานในช่วงแรกว่า อุปกรณ์เพจเจอร์พกพาถูกป้อนคำสั่งให้ทำงานจนแบตเตอรี่ร้อนและเกิดการระเบิด ถือเป็นการโจมตีทางไซเบอร์แบบวงกว้าง แต่การตรวจสอบในเวลาต่อมากลับกลายเป็นว่า ในอุปกรณ์เจ้ากรรมได้มีดินระเบิดขนาดอย่างน้อย 5 กรัมซุกซ่อนอยู่

และเครื่องที่ถูกจุดชนวนคือเครื่องที่ได้รับชุดคำสั่ง “ข้อความพิเศษจากแกนนำเฮซบอลเลาะห์” กล่าวคือถ้าไม่ใช่ข้อความนี้ ก็จะไม่ระเบิด และทำให้สรุปได้ว่า นี่ไม่ใช่เหตุไซเบอร์แล้ว แต่เป็นเหตุก่อวินาศกรรม

นำไปสู่คำถามสำคัญว่า แล้วระเบิดถูกใส่เข้าไปในตอนไหน ซึ่งจากการตามรอยข้อมูลได้พบหลักฐานว่า เป็นเพจเจอร์ยี่ห้อ โกลด์ อพอลโล ของบริษัทไต้หวัน ขณะที่วิทยุสื่อสารคือยี่ห้อไอคอมของบริษัทญี่ปุ่น และดินระเบิดได้ถูกติดตั้งเข้าไปตั้งแต่กระบวนการผลิต ไม่ใช่ระหว่างการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม การสาวไปให้ถึงต้นทางดูท่าจะคว้าน้ำเหลว ฝั่งไต้หวันอ้างว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ผลิต แต่เป็นการอนุญาตให้ใช้ชื่อแบรนด์เฉยๆ โดยคนที่เอาชื่อแบรนด์ไปผลิตสินค้าคือบริษัท “บีเอซี คอนซัลติ้ง” ในประเทศฮังการี แต่ต่อมากลับกลายเป็นว่า บริษัทในฮังการีก็พูดในทำนองเดียวกันว่า เราไม่มีโรงงานผลิต นักข่าวได้เบอร์ผู้บริหารมาจากไหน ตัดสายโทรศัพท์ทิ้ง พร้อมทำการลบเว็บไซต์ของบริษัททิ้งภายในเวลาไม่นาน

ขณะที่หน่วยข่าวกรองของฮังการีให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า บริษัทบีเอซีอาจถูกใช้เป็นหน้าฉาก และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่ว่า ผู้ขนส่ง “อุปกรณ์ยัดไส้” ไปยังเลบานอนคือบริษัทที่มีชื่อว่า “นอร์ตา โกลบอล” ซึ่งสื่อมวลชนต่างพากันระบุว่าบริษัทนี้ไม่มีตัวตนในโลกออนไลน์ และพิกัดที่อยู่ของบริษัท บีเอซีในกรุงบูดาเปสต์ของฮังการี ก็มีบริษัทเอกชนขนาดเล็กหลายแห่ง ระบุที่อยู่ของตัวเอง เป็นที่เดียวกันกับบริษัทบีเอซี ส่วนเรื่องวิทยุยี่ห้อไอคอม ทางบริษัทต้นสังกัดชี้แจงว่า เลิกผลิตไป 10 กว่าปีแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นการแอบอ้างหรือไม่

แทบไม่เหลือร่องรอยอะไรที่บ่งชี้ไปยัง “อิสราเอล” และ “มอสสาด” ได้เลย

เพียงแต่รายละเอียดต่างๆที่ปรากฏออกมาหลังเหตุการณ์ ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้อย่างเต็มปาก เพราะถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ “หน่วยข่าวกรอง” จะใช้บริษัทเอกชนเป็นหน้าฉากในการปฏิบัติภารกิจ ในช่วงยุคสงครามเย็นที่สำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ CIA และหน่วยข่าวกรองเยอรมนีตะวันตก เคยมีบริษัท “คริปโต เอจี” ในสวิตเซอร์แลนด์ไว้เป็นหน้าฉากอำนวยความสะดวกการปฏิบัติภารกิจ

อีกทั้งหากมองในประเด็น “เพื่อเล่นงานศัตรูแล้ว” หน่วยมอสสาดยังเคยสร้างชื่อในเรื่องการใช้ “วัตถุระเบิด” ไล่เก็บบรรดาแกนนำแบล็ก เซปเทมเบอร์ “กันยาฯทมิฬ” ที่ก่อโศกนาฏกรรมโอลิมปิกที่นครมิวนิกปี 2515 หรือรายงานข่าวที่ว่า ก่อนเกิดเหตุระเบิดในเลบานอนไม่กี่นาที โยอาฟ กาลแลนต์ รมว.กลาโหมอิสราเอล ได้ต่อสายโทรศัพท์คุยสั้นๆกับ พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ว่า ปฏิบัติการในเลบานอนกำลังจะมาถึง

ไม่รวมถึงจุดยืนแข็งกร้าวของรัฐบาลอิสราเอล “ใครเล่นงานเรา คือคนที่ตายไปแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้ตัว” สิ่งเหล่านี้ไม่อาจทำให้คิดเป็นอื่นเลยว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง!?


วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม