“ก่อนอื่นผมอยากขอแสดงความเสียใจต่อสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทยที่มีความรุนแรงอย่างแสนสาหัส สิ่งนี้เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสมีความหวังที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพิ่มเติม พร้อมอยู่ระหว่างประสานงานกับชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย ว่าเราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของพี่น้องชาวไทยผู้ประสบภัย”

เป็นคำกล่าวจากใจของ “ฌ็อง โกลด ปวงเบิฟ” เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่เอ่ยขึ้นมาเป็นอันดับแรก ระหว่างการเปิดบ้านริมน้ำเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงทิศทางความสัมพันธ์ของสองประเทศ ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลามากกว่า 3 ศตวรรษ

ผมขออนุญาตย้อนหลังกลับไปแค่ปี 2565 ที่สองรัฐบาลได้จัดทำโรดแม็ปเพื่อนำไปสู่ความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกัน โดยเป็นไอเดียที่เกิดจากมุมมองที่ว่าชาวฝรั่งเศสมองไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ขณะที่ชาวไทยก็มองฝรั่งเศสแบบเดียวกัน คือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไว้บินไปซื้อของแบรนด์เนม

ลองเปลี่ยนความคิดกันดูไหม ลองมาร่วมมือส่งเสริมซึ่งกันและกันในฐานะ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ประเทศแห่งการวิจัยและการศึกษา ซึ่งในยุคของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เรามีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น มีการเยือนระดับสูง และการเจรจาระหว่างคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วมีการดึงกลุ่มธุรกิจเข้าร่วมลงนามข้อตกลงต่างๆในเวทีบิสซิเนสฟอรั่มที่กรุงปารีส ซึ่งปีนี้ก็เป็นคราวของไทยจัดงานที่กรุงเทพฯ

ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทย นับตั้งแต่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกครั้งก่อน อีกทั้งในปี 2568 จะถึงวาระครบรอบ 340 ปี การติดต่อทางการทูตครั้งแรกระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ตามด้วยปี 2569 ครบรอบ 170 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

...

เอาเข้าจริงบ้านหลังที่นั่งสนทนากัน ถือเป็นสถานที่แรก ที่ฝรั่งเศสเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม เราเคยเช่าที่ดิน ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานที่ดินแปลงริมน้ำแห่งนี้ให้ใช้เป็นทำเนียบเอกอัคร ราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

สำหรับคำถามว่า หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส จะทำอะไร? เราไม่ได้นับการค้าขายระหว่างกันทั่วๆไป ขายรถยนต์ ขายกระเป๋า เสื้อผ้า พวกนั้นเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่เราสองประเทศมองคำว่า “ยุทธศาสตร์” เป็นหัวใจ อะไรบ้างที่เราสองทำร่วมกันแล้ว น่าจะรุ่งน่าจะเติมเต็มให้กัน ในเมื่อฝรั่งเศสเป็นประเทศเศรษฐกิจ อันดับ 6 ของโลก และไทยเป็นประเทศ เศรษฐกิจอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน

อย่างแรกที่มองกันไว้ คือความร่วมมือด้าน “โครงสร้างขั้นพื้นฐาน” ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการพัฒนาประเทศ ตามด้วยความร่วมมือด้านโครงสร้าง “พลังงาน” ซึ่งฝรั่งเศสมีความพร้อมอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยีพลังงาน “นิวเคลียร์” ระบบพลังงานของฝรั่งเศสเป็นไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 85% อุตสาหกรรมความมั่นคงก็เป็นสิ่งที่น่าคิด ฝรั่งเศสอาจมีความสนใจในยุทโธปกรณ์บางอย่างของไทย

ไปจนถึงความร่วมมือในประเด็นสำคัญของโลก อาทิ “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศ

ขอโทษนะครับที่ต้องพูดว่า ประเทศไทยมีความ “ระมัดระวังตัวสูง” ทางด้านการทูต และทำให้ถูกมองว่าไม่ใช่ประเทศที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มอะไรก่อน ซึ่งเรื่องนี้ฝรั่งเศสเข้าใจดี แต่ในบางครั้งประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญระดับโลกอย่างเรื่องโลกร้อน ไทยจะแสดงความริเริ่มบ้างก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะมันต่างกับการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงสหรัฐอเมริกา-จีน

เมื่อ 35 ปีก่อนผมได้รับเกียรติเป็นเจ้าหน้าที่การทูตประจำอยู่ในประเทศไทย มาวันนี้ผมได้มีโอกาสกลับมาในฐานะเอกอัครราชทูต มีคนถามเยอะว่ารู้สึกเช่นไร ซึ่งคำตอบสั้นๆที่ยังไม่ได้ผ่านการประมวลมามากพอสักเท่าไรคือ “ทุกสิ่งเปลี่ยนไปและทุกสิ่งยังเหมือนเดิม” เมื่อก่อนไม่มีตึกสูงระฟ้าขนาดนี้ ยังไม่มีระบบขนส่งรถไฟฟ้า

แต่รอยยิ้มและความเป็นไทยยังคงเด่นชัดไม่เปลี่ยนแปลงหากให้จัดอันดับแล้ว สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับเมืองไทยคือ รอยยิ้ม ความโอบอ้อมอารี อาหารไทย (ยำวุ้นเส้น แกงเขียวหวาน ห่อหมก) ทัศนคติของคนไทยที่มีต่ออาหาร งานฝีมือหัตถกรรม และความรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยปลอดภัย ส่วนเรื่องที่อยากเห็นในอนาคตคือ การกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคต่างๆ เพราะจากการเดินสายเยี่ยมเยียนต่างจังหวัดในช่วงปีที่ผ่านมาเห็นว่า บรรยากาศค่อนข้างแตกต่างกันมาก

ประมาณ 50 ปีก่อนฝรั่งเศสเคยอยู่ในจุดนี้เช่นกัน กรุงปารีสโตวันโตคืน ขณะที่บรรดา “เมืองรอง” ค่อนข้างเงียบเหงา สิ่งที่เราทำในตอนนั้นคือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่าง

ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวางเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และทำให้การไหลเวียนของประชากรเปลี่ยนไป คนสามารถอยู่ที่บ้านหรือพำนักอาศัยในต่างจังหวัดและเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวงภายในเวลา 1 ชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง

สมัยก่อนคนฝรั่งเศสชอบพูดเปรียบเทียบว่า “กรุงปารีสกับทะเลทรายฝรั่งเศส” เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเวลาอธิบายการเดินทาง ก็จะบอกกล่าวกันว่า เมืองนั้นเมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงปารีส 500-900 กิโลเมตร เตรียมตัวหมดเวลาไปกับการเดินทางข้ามวันข้ามคืน

แต่หลังจากโครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนา คำอธิบายก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้กลายเป็นพูดว่าเมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงปารีส 1 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง มุมมองการบอก “ระยะทาง” ได้ถูกทดแทนด้วยการบอก “เวลา” ส่วนตัวมองว่า การใช้สายการบินมีความสะดวกสบายจริง แต่ไม่ใช่คำตอบในระยะยาว การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง จะทำให้คนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เม็ดเงินก็กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่.

...

ทีมข่าวต่างประเทศ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่