สมาคมชาวตราดเชิญลูกหลานชาวตราดและญาติมิตร ร่วมงานชุมนุมชาวตราดครั้งที่ 22 เวลา 10.30-15.00 น. ที่ NT สำนักงานใหญ่ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ชาวตราดคนใดจะเข้าร่วมงานติดต่อคุณนก เบอร์/ไลน์ไอดี 08-1904-5803
ภาพลักษณ์ของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งกริยามารยาท การแต่งเนื้อแต่งตัว การใช้รถและการดำเนินชีวิต พวกนี้เป็นจุดสนใจของคน เนื่องจากผู้นำประเทศเป็นเบอร์หนึ่งในการใช้งบประมาณนับล้านล้านบาทซึ่งเป็นภาษีของประชาชน การที่ใช้ชีวิตหรูหราหมาเห่าอาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเอื้อมไม่ถึง การมีส่วนร่วมของผู้คนก็ขาดไป
ผู้นำอาเซียนคนหนึ่งซึ่งเราชื่นชมในการวางตัวและการใช้ชีวิต แม้ว่าจะเป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศก็ยังใช้ชั้นประหยัด คนเป็นผู้นำที่มีประชากรเป็นร้อยล้านคนอย่างโจโก วิโดโด ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2014 และจะไปสิ้นสุดวาระวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ตุลาคม 2024 วางตัวเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งอินโดนีเซีย
ลูกชายของแกกลับทำตัวตรงกันข้าม 20 สิงหาคม 2024 นายกาเอซาง ปังงาเรพ ลูกชายประธานาธิบดีวิโดโดและภรรยาโพสต์ภาพการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวหรูหราหมาเห่าไปสหรัฐฯอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ
การโพสต์ของลูกชายคนเล็กของนายวิโดโดอย่างเลินเล่อเผลอไผล สร้างความโมโหโกรธาให้กับชาวอินโดนีเซียอย่างมาก หลายคนเริ่มนึกถึงการสร้างภาพของวิโดโด ว่าสร้างภาพประหยัดมัธยัสถ์ ติดดิน อาจจะแค่แสดงละครเพื่อให้ประชาชนคนอินโดนีเซียศรัทธา แต่แท้ที่จริงอาจจะเป็นพวกปากคัมภีร์ใจปีศาจก็ได้
...
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้คนอินโดฯไม่พอใจครอบครัวนี้ก็คือ การสืบทอดอำนาจของผู้คนในตระกูล ทำให้การเมืองอินโดนีเซียเข้าสู่วังวนเก่าๆ เหมือนยุคของซูฮาร์โต ที่มีแต่เอาเพื่อนฝูงพี่น้องและญาติโกโหติกาที่มีพื้นเผ่าเหล่ากอเดียวกันขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญจนประเทศแทบล่มจม
ลูกชายคนแรกของวิโดโด คือ ยิบราน รากาบูมิง รากา อายุ 36 ปี จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียในวันที่ 20 ตุลาคม 2024 ส่วนลูกชายคนเล็ก อายุ 29 ปี เตรียมจะลงสมัครเลือกตั้งระดับภูมิภาค
ลูกชายคนเล็กของวิโดโดจะสมัครเลือกตั้งได้ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ขณะที่รัฐสภาอินโดนีเซียเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติอัปรีย์สีกบาลฉบับแก้ไข ลูกชายก็ทำเสียเรื่องซะก่อน ทำให้ประชาชนพาโลโสเกและรัฐสภาอินโดนีเซียเกรงกลัวประชาชนจะลุกฮือจึงยกเลิกการยื่นร่างพระราชบัญญัติเข้าไปในการพิจารณาของสภา
ขออนุญาตย้อนไปที่การเลือกตั้งของสหรัฐฯสักนิดครับ ซึ่งตอนนี้กำลังมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเข้มข้นระหว่างนายทรัมป์แห่งพรรครีพับลิกันกับนางแฮร์ริสจากพรรคเด็มโมแครต
ช่วงที่ผ่านมานางแฮร์ริสเป็นรองประธานาธิบดีของ นายไบเดน แกก็แต่งตัวใส่ส้นสูง สุภาพภูมิฐาน แต่พอเข้ามาสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทีมปรับภาพลักษณ์ของนางแฮร์ริส ก็ให้นางแฮร์ริสเปลี่ยนการแต่งเนื้อแต่งตัวเป็นสไตล์เรียบง่าย สบายๆ จากรองเท้าส้นสูงมาเป็นรองเท้าผ้าใบ Converse Chuck Taylor All Stars นางแฮร์ริสเคยใส่ผ้าใบยี่ห้อนี้ตอนที่หาเสียงกับนายไบเดนเมื่อ ค.ศ.2020 (แล้วไบเดนก็ชนะทรัมป์) นางแฮร์ริสได้เป็นรองประธานาธิบดี
ถ้าคิดกันเผินๆ เรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว การวางตัว การใส่เครื่องประดับ ไม่เกี่ยวอะไรกับการบริหารบ้านเมือง ทว่าในความเป็นจริงเกี่ยวมากครับ เพราะการปรากฏตัวของผู้นำส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ การแต่งตัวของนางแฮร์ริสในปัจจุบันทำให้ประชาชนรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า
สุดท้ายปลายโด่ง การเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุผล ผมขออนุญาตสรุปอย่างย่นย่อพอได้ความว่า โดยแท้ที่จริงการเมืองเป็นเรื่องของความนิยมชมชอบ ถ้าชอบก็เลือก ถ้าไม่ชอบก็ไม่เลือก แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ดอกครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม