รัฐบาลซิมบับเวเตรียมฆ่าช้างประมาณ 200 ตัว ชำแหละเนื้อแจกจ่ายให้ประชาชนบริโภค หลังเจอภาวะอดอยากจากภัยแล้วที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
วันที่ 17 กันยายน 2567 เว็บไซต์ข่าว CNN รายงานว่า รัฐบาลซิมบับเว อนุมัติแผนการฆ่าช้างประมาณ 200 ตัวเพื่อชำแหละเนื้อแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปบริโภคกัน หลังจากซิมบับเวประสบภาวะอดอยากจากภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
นายทินาเช ฟาราโว โฆษกองค์การอุทยานและสัตว์ป่าของซิมบับเวเปิดเผยว่า ภัยแล้งทำให้ชาวซิมบับเวกว่าครึ่งประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อความหิวโหยอย่างรุนแรง (acute hunger) ทำให้รัฐบาลออกแผนฉุกเฉินในการฆ่าช้าง 200 ตัว ขณะที่ปัจจุบันซิมบับเวเป็นประเทศที่มีมีประชากรช้างมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากบอตสวานา โดยมีอยู่ 84,000 ตัว ในขณะที่ผืนป่ารองรับได้ประมาณ 45,000 ตัว
โดยนายซิเธอึมบิโซ โยนี รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมซิมบับเวกล่าต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาสนับสนุนแผนการฆ่าช้างแก้ปัญหาอดอยาก เนื่องจากซิมบับเวมีช้างมากเกินความจำเป็น และมีมากกว่าที่ป่าจะรองรับได้ ทำให้มีช้างจำนวนมากออกมาจากป่าแล้วเข้าไปในเขตชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับช้าง
นายโยนีกล่าวว่า โดยขั้นตอนต่อจากนี้คือการรอเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการ แล้วติดต่อกลุ่มสตรีมาช่วยกันทำเนื้อช้างตากแห้งก่อนแพคใส่ถุงแล้วส่งให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง
รายงานข่าวระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลซิมบับเวในครั้งนี้เป็นการทำตามอย่างการแก้ปัญหาของรัฐบาลนามิเบีย ที่เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งฆ่าช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ รวม 700 ตัวมาบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหาร แม้ต้องเผชิญเสียงต่อต้านจากกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์ และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ
...
ก่อนหน้านี้กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้และการท่องเที่ยวของนามิเบีย เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลผ่านแผนอนุมัติฆ่าช้างและสัตว์ป่ารวม 700 ตัวไปเมื่อเดือนที่แล้ว จนถึงตอนนี้ได้มีการฆ่าไปแล้วกว่า 150 ตัว ได้เนื้อมาเกือบ 56,700 กิโลกรัมและได้แจกจ่ายให้ประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ซิมบับเว และนามิเบียเป็นเพียงสองประเทศจากหลายประเทศทั่วแอฟริกาตอนใต้ที่ประสบภัยแล้งรุนแรงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติที่ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีฝนตกน้อยมากนับตั้งแต่ต้นปี ประเทศเหล่านี้ยังเสี่ยงต่อภัยแล้งที่เลวร้ายลงจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.