หลายเดือนก่อน เปิดฟ้าส่องโลกเขียนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของสหราชอาณาจักรล้มละลายหลายแห่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งกลับจากการไปอบรมสัมมนาที่อังกฤษส่งเมลมาต่อว่า...“เป็นไปไม่ได้ ผมไปอบรมหลักสูตรท้องถิ่นที่อังกฤษมา 1 เดือน ทุกอย่างราบรื่นดี ไม่มีสัญญาณทางเศรษฐกิจว่าจะตกต่ำหรือล้มละลาย”
หลังจากแลกไลน์และคุยกัน ผมจึงมีโอกาสได้เรียนรับใช้ท่านว่า อังกฤษเป็นประเทศที่มี อปท.ซับซ้อน ทั้งโครงสร้าง 2 ชั้นและโครงสร้างชั้นเดียว มีทั้งสภาเคาน์ตี ขณะเดียวกันบางแห่งยังมีสภาชั้นล่างซ้อนอยู่ เรียกว่าสภาเบอเรอะ บางแห่งเรียกสภาเขต บางแห่งเรียกสภานคร
ถามท่านอาจารย์ว่า ช่วงอบรม 1 เดือนนั้น ท่านอยู่ที่เมืองไหน ท่านบอกว่าอยู่ที่กรุงลอนดอน ผมเลยเรียนถามท่านถึง อปท.ลอนดอน ท่านพูดถึง The Greater London Council หรือสภาลอนดอน ผมเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์ครับ สภานี้โดนนางมากาเร็ต แท็ตเชอร์ ยุบไปนานแล้วครับ หลังจาก ค.ศ.1986 กรุงลอนดอนเหลือแต่สภาเบอเรอะเท่านั้น”
พอถึงยุคนายโทนี แบลร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการตั้งลอนดอนมหานครที่เรียกว่า Greater London Authority หรือ GLA ที่มีทั้งนายกเทศมนตรี ที่เรียกว่า Mayor และสมาชิกสภา ที่เรียกว่า Councilors ตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ลอนดอนมีเขตการปกครองท้องถิ่นรวมแล้ว 33 เขต เขตแรกเป็นพื้นที่ขนาดเล็กไม่ถึง 3 ตารางกิโลเมตร เรียกว่า City of London ส่วนอีก 32 เขต เป็นสภาเขตแห่งลอนดอนที่เรียกว่า London Borough Councils
ถ้าจะสนทนากันเรื่องระบบบริหารราชการแผ่นดินของอังกฤษ ต้องอย่าเอาระบบของไทยหรือของฝรั่งเศสไปจับ เพราะของไทยมีทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ละจังหวัดไปดูเถิดครับ มีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ (ส่วนภูมิภาค) มีทั้งนายก อบจ. นายกเทศมนตรี และนายก อบต. (ส่วนท้องถิ่น) ซ้อนกันไปหมด งบประมาณก็แบ่งกันใช้บริหารพื้นที่ซ้อนกันไป ซ้อนกันมาระหว่างผู้ว่าฯ กับ นายก อบจ. ไม่รู้ว่าใครใหญ่กว่าใคร
...
แต่อังกฤษมีแค่ 2 ระดับคือส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นจึงต้องบริหารจัดการเอง เพราะเศรษฐกิจอังกฤษไม่ดีทำให้ อปท.ของอังกฤษหลายแห่งไปไม่รอด สถาบันการคลังศึกษาหรือ Institute for Fiscal Studies แถลงว่า ระหว่าง ค.ศ.2012-2024 สภาเมืองอังกฤษสูญเงินทุนหลักซึ่งเป็นเงินทุนจากรัฐบาลกลางและภาษีท้องถิ่นถึงร้อยละ 9
ผู้อ่านท่านคงจะเคยทานช็อกโกแลตยี่ห้อดังที่ผลิตที่เมืองเบอร์มิงแฮม และอาจจะเคยได้ยินชื่อโรงเรียนมัธยมชื่อดังที่ตั้งโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 เมื่อ ค.ศ.1552 หรือ 472 ปีที่แล้ว รวมทั้งสถาบันชื่อดังอย่างมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ใครจะเชื่อครับว่าท้องถิ่นของเมืองดังๆ อย่างเบอร์มิงแฮมยังประกาศล้มละลายเมื่อ ค.ศ.2023 ไม่มีเงิน และประกาศหยุดการใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นการบริการที่ ‘จำเป็นยิ่งยวด’
ที่น่าเห็นใจคือเด็กเล็กและเยาวชน ระหว่าง ค.ศ.2020-2023 สภาท้องถิ่นทั่วสหราชอาณาจักรต้องปิดศูนย์เยาวชน 1,243 แห่ง และศูนย์เด็ก 1,168 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์ชุมชนที่จัดชั้นเรียนและบริการฟรีให้กับเยาวชนและครอบครัว
แม้แต่สถานที่ที่จะใช้อุจจาระปัสสาวะก็ยังกระทบ ท้องถิ่นของอังกฤษไม่มีเงินถึงขนาดต้องปิดห้องน้ำสาธารณะ 1,629 แห่ง ส่วนห้องสมุดซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการพัฒนาผู้คนอังกฤษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องปิดไป 1,376 แห่ง
สมัยก่อนตอนโน้น อังกฤษต้องออกไปล่าฆ่ามนุษย์ด้วยกันในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกา ก็เพราะเพื่อจะนำทรัพยากรของท้องถิ่นเหล่านั้นมาใช้บำเรอผู้คนของตนเอง สงครามนำความตายมาสู่คนท้องถิ่น แต่ก็สงครามนี่ละครับ ที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับอังกฤษ
อังกฤษได้แรงงานมนุษย์จากอาณานิคมมาใช้ฟรีๆ หลายร้อยล้านคนทั่วโลก หลังจากกอบโกยทรัพยากรท้องถิ่นมาแล้ว ก็นำมาพัฒนาเป็นสินค้าส่งกลับไปขายให้มนุษย์ในอาณานิคม มนุษย์เหล่านี้ต้องซื้อจากอังกฤษเท่านั้น บรรพบุรุษของคนอังกฤษร่ำรวยมั่งคั่งและมีความเป็นอยู่หรูหราหมาเห่าโฮ่งๆ
ค.ศ.2024 อังกฤษทำอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว
คนอังกฤษเป็นมนุษย์ที่อยู่บนเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งเท่านั้น.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม