ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ตัดสินให้บริษัท แอปเปิล แพ้คดีเลี่ยงภาษีนับหมื่นล้านยูโร ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการอุทธรณ์ของแอปเปิล ทำให้พวกเขาถูกปรับเงินคดีผูกขาด

เมื่อวันอังคารที่ 10 ก.ย. 2567 ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ) มีคำตัดสินยืนตามคณะกรรมาธิกายุโรปในปี 2559 ซึ่งพบว่า ไอร์แลนด์ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัท แอปเปิล ในช่วงปี 2534-2557 คิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.82 แสนล้านบาท) และสั่งให้จ่ายภาษีจำนวนดังกล่าวย้อนหลัง

นายอเล็กซ์ ฮาฟฟ์เนอร์ จากบริษัทกฎหมาย “แฟลดเกต” (Fladgate) ระบุว่า คำตัดสินของ ECJ หมายความว่า แอปเปิลต้องยอมสละเงินจำนวน 1.3 หมื่นล้านยูโรที่ฝากเอาไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) ระหว่างรอคำตัดสิน

ทั้งนี้ คดีภาษีของแอปเปิลเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามปราบปราม การทำข้อตกลงระหว่างบริษัทข้ามชาติกับชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมองว่า เป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งผลักดันโดย น.ส.มาเกรเธ เวสตาเกอร์ กรรมาธิการยุโรปด้านการแข่งขันทางการค้า

คณะกรรมาธิการยุโรประบุในปี 2559 ว่า แอปเปิลได้ประโยชน์จากคำตัดสินคดีภาษีของศาลไอร์แลนด์ 2 ครั้งมานานกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งช่วยลดภาระทางภาษีของบริษัท และลดจนเหลือต่ำเพียง 0.005% ในปี 2557

อย่างไรก็ตาม แอปเปิลโต้แย้งคำตัดสินดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยุโรป และศาลทั่วไปแห่ง EU ซึ่งเป็นศาลชั้นรองของ ECJ ตัดสินในปี 2563 ว่า องค์กรตรวจสอบไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนตามมาตรฐานทางกฎหมาย ที่แสดงให้เห็นว่า แอปเปิลได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม

แต่ในวันอังคาร ศาล ECJ เพิกถอนคำตัดสินของศาลทั่วไป และมีคำตัดสินยืนตามคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่ง น.ส.เวสตาเกอร์ ระบุในแถลงการณ์ว่า “วันนี้คือชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับชาวยุโรปและความยุติธรรมทางภาษี” ส่วนแอปเปิลระบุว่า พวกเขาผิดหวังในคำตัดสินและยืนยันว่า แอปเปิลจ่ายภาษีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเสมอมา และไม่เคยได้รับข้อตกลงพิเศษ

...

ส่วนรัฐบาลไอร์แลนด์ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไอร์แลนด์ไม่เคยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษแก่บริษัทหรือผู้เสียภาษีรายใด

ในวันเดียวกัน ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปยังมีคำตัดสินแยกต่างหากในคดีผูกขาดทางการค้าของ กูเกิล โดยศาลทั่วไปของ ECJ ปฏิเสธการอุทธรณ์ซึ่งยื่นโดยของบริษัท กูเกิล กับบริษัทแม่ของพวกเขาอย่าง “อัลฟาเบท” (Alphabet) เพื่อโต้แย้งคำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่สั่งปรับเงินพวกเขาจำนวน 2.4 พันล้านยูโร (ราว 8.9 หมื่นล้านบาท) ในปี 2560

คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับกูเกิลโทษฐาน ใช้สถานะความเป็นเจ้าตลาดเสิร์จเอนจินของตัวเอง จัดอันดับการค้นหาข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม โดยจัดบริการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่จ่ายเงินให้กูเกิลไปไว้ที่ตำแหน่งบนสุดในผลการสืบค้นข้อมูลสินค้าทำให้บริษัทคู่แข่งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเสียเปรียบ

ในตอนนั้น น.ส.เวสตาเกอร์กล่าวว่า พฤติกรรมของกูเกิลเป็นการ ปฏิเสธทางเลือกในการใช้บริการที่แท้จริงของผู้บริภาคชาวยุโรป รวมถึงการได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างเต็มที่ ด้วยการลดขนาดคู่แข่งลง

หลัง ECJ มีคำตัดสิน โฆษกของกูเกิลก็ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวัง โดยชี้ว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงนโยบายโฆษณาสินค้าในยุโรปเมื่อปี 2560 เพื่อให้เป็นไปตามการคำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว

อนึ่ง คำตัดสินของศาล ECJ ถือเป็นที่สุด หมายความว่า ทั้งแอปเปิลและกูเกิล ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ในคดีเหล่านี้ได้อีก

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn