“Quad” เป็นความคิดริเริ่มของ 4 ประเทศพันธมิตร ที่บังเอิญตั้งอยู่คนละมุมของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมตัวกันขึ้นเพื่อประสานพลังความร่วมมือตอบสนองด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์อย่างมีประสิทธิภาพ หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 คร่าชีวิตผู้คนมากมายและทิ้งความเสียหายอย่างมหาศาล”

“ดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกระ” รมว.ต่างประเทศอินเดียเริ่มต้นการสนทนาโดยไม่รีรอ หลังกล่าวต้อนรับการมาเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของกลุ่มผู้สื่อข่าวจากประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและแอฟริกาใต้ 23 ประเทศ รวมทั้งผู้สื่อข่าวนสพ.ไทยรัฐ ในโอกาสเยือนอินเดีย ภายใต้โครงการ “Quad Familiarization Visit” ที่กระทรวงต่างประเทศอินเดีย เป็นเจ้าภาพเชื้อเชิญ

เปิดโอกาสให้เรียนรู้ “มนต์เสน่ห์อินเดีย” ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมทั้งสร้างความคุ้นเคยกับแนวทางการพัฒนาและความคิดริเริ่มต่างๆ ของอินเดียในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ “Quad”

รมว.ต่างประเทศอินเดียกล่าวเสริมว่าทั้ง 4 ชาติพันธมิตรได้มีการพูดคุยกันถึงการเดินหน้าสานต่อความร่วมมือนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างจริงจังถาวร ท่ามกลางภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความท้าทายรูปแบบใหม่ๆ จนกระทั่งตกลงรีสตาร์ตความร่วมมือ Quad อย่างจริงจังในปี 2560

คราวนี้มุ่งเดินหน้าสร้างบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการตอบสนองต่อภัยพิบัติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล ร่วมจัดการปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และความร่วมมือทางเทคโนโลยี มุ่งส่งเสริมให้เป็นภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง และสงบสุข โดยเคารพกติกาสากลและดำเนินการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

...

ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าปัจจุบันมีกลุ่มความร่วมมือมากมาย ยืนยันว่า Quad มีจุดยืนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง AUKUS ทั้งในแง่เป้าประสงค์และผู้เล่น ที่มีออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ เป็นสมาชิก ส่วนกรอบความร่วมมือ BRICS ของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ เป็นสมาชิกหลัก ซึ่งชาติสมาชิกอาเซียนอย่างไทยและมาเลเซียต่างส่งใบสมัครขอเข้าร่วมขบวนด้วยนั้น

น่าเสียดายที่จับสัญญาณให้รับรู้ได้ว่า หลีกเลี่ยง ที่จะพูดถึงและรีบตัดจบไปเรื่องอื่น

ด้านความสัมพันธ์กับ “อาเซียน” นายชัยศังกระมองว่ามีบทบาทสำคัญต่ออินเดียและในระดับโลก ต้องการผลักดันความร่วมมือต่อไปในอนาคตอย่างมีประสิทธิ ภาพ โดยเฉพาะในประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ยังแนะให้ช่วยกัน “คิดใหม่ทำใหม่” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมโยงทางกายภาพ โครงข่ายไฟฟ้า ไปจนถึงการทำงานร่วมกันด้านดิจิทัล เพื่อให้เท่าทันกับภูมิทัศน์โลกที่ต่างไปจากเดิม

“เมื่อ 10 ปีก่อน หัวข้ออย่างความร่วมมือด้านดิจิทัล สภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางทะเล ยังไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก แต่ตอนนี้เรากำลังหารือประเด็นเหล่านี้กับหลายประเทศในอาเซียน รวมถึงนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างเดินทางมาเยือนอินเดียขณะนี้ด้วย”

ส่วนเรื่องที่ไม่ถามไม่ได้อย่างประเด็นสงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา นายชัยศังกระเผยจุดยืนหนักแน่นของอินเดียที่ให้ความสำคัญกับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน รวมทั้งหนุนการเจรจาเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน และแนวทาง 2 รัฐ พร้อมให้มีตัวแทนทางการทูตของรัฐบาลปาเลสไตน์ในอินเดียเพื่อยุติวิกฤติอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ทีมข่าว นสพ.ไทยรัฐยังมีโอกาสร่วมวงสนทนากับแหล่งข่าวในกองทัพเรืออินเดียเป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยสาระสำคัญที่ได้รับเน้นถึงบทบาทของอินเดียในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค สอดคล้องกับแนวทางของ Quad

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันยังเผชิญกับความท้าทายทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความมั่นคงโลก รวมถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้าย โจรสลัด ภัยธรรมชาติอย่างพายุไซโคลน รวมทั้งประมงผิดกฎหมาย ที่ผ่านมากองทัพเรืออินเดียปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากเหตุร้ายต่างๆ หยุดยั้งการลักลอบขนยาเสพติด อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกองทัพเรืออินเดียยังตั้งข้อสังเกตการพบเห็นเรือประมงติดอาวุธของจีนเดินทางไกลจากทะเลจีนใต้มาถึงภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในพื้นที่ครั้งละ 6-8 เดือน โดยจะหยุดเฉพาะช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น นอกจากต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการประมงผิดกฎหมาย

เป็นภัยต่อความสมดุลระบบนิเวศ เรือเหล่านี้ยังทำหน้าที่สอดส่องรวบรวมข่าวกรองเป็นหูเป็นตาให้กับกองทัพจีนอีกด้วย กองทัพเรืออินเดียได้เฝ้าระวังสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่ายังไม่มีรายงานการละเมิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศใดๆในภูมิภาค ต่างจากเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้

ส่วนคำถามสุดท้ายเมื่อใกล้หมดเวลาเกี่ยวกับความร่วมมือกับกองทัพเรือไทย ได้รับคำตอบพร้อมรอยยิ้มมุมปากและนัยน์ตาเป็นประกายวิบวับว่า “We have a vibrant relationship” เรามีความสัมพันธ์ที่สดใส มีชีวิตชีวา ยืนยันว่าที่ผ่านมามีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะดำเนินต่อไปในอนาคต.

...

ทีมข่าวต่างประเทศ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่