โลกมาถึงยุคที่ความแก่จะรักษาได้ และย้อนวัยได้ จนอาจเป็นอมตะ!! ได้ยินอย่างนี้คิดว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ในเมื่อผู้สูงอายุไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” ไม่ใช่ “รวยก่อนแก่” เหมือนอารยประเทศ

จะมีประโยชน์อะไรที่อายุขัยจะยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตกลับถดถอยลง เพราะเป็น “สังคมสูงวัยที่แก่ก่อนรวย” นี่คือสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยปี 2567 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวมทั้งหมด และมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวมทั้งหมด คาดว่าภายในปี 2576 สัดส่วนผู้สูงอายุไทยจะทะลุ 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) สวนทางกับอัตราการเกิดและอัตราคนวัยทำงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การเผชิญกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่วิกฤติใหม่ ทว่า เกิดขึ้นก่อนแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 (วัดจากจำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วนถึง 10% ของประชากรรวม) ขณะที่ประเทศยังไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ส่งผลให้คนไทยแก่ก่อนรวย!! ในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงสามารถจ่ายภาษีได้มาก รัฐก็สามารถนำงบประมาณมาจัดสรรสวัสดิการได้ครอบคลุมเพียงพอ แต่ของไทยเศรษฐกิจไม่ค่อยพัฒนา ทำให้ไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการอย่างนั้นได้ ประกอบกับปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาและคุณภาพคน ที่คนส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอในการเกษียณและใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต จำนวนมากยังต้องเสียเงินเสียทองที่สะสมมาทั้งชีวิตไปกับการรักษาพยาบาล ทำให้ถูกบีบเข้าสู่สถานการณ์ “ยิ่งแก่ยิ่งจน” ชนิดไม่มีทางต่อสู้

...

ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านไหนคิดจะหวังพึ่งลูกหลานให้กลับมาดูแลเมื่อชราภาพก็เป็นไปได้ยาก เพราะอัตราการเกิดลดลง และคาดว่าอัตราคนวัยทำงานในอนาคตก็จะลดลง เหลือคนทำงาน 2 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แล้วลูกหลานจะรับมือไหวไหมกับบทบาทเสาหลักของบ้านที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองไปพร้อมกับการแบกภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยชราและมีแนวโน้มว่าจะอายุยืนยาวซะด้วย เฉลี่ยอายุขัยเกิน 77 ปีแน่นอน

น่าเห็นใจสุดหนีไม่พ้น “เจเนอเรชันเดอะแบก” ที่หาเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ และเสี่ยงเงินหมดก่อนลาโลก เมื่อถึงเวลานั้นใครจะมารับช่วงดูแลเดอะแบกที่แก่เฒ่าไร้เรี่ยวแรง มันน่าคิดใช่ไหม?!

ข่าวดีคือคนไทยใกล้อายุยืน 100 ปี เพราะนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยรุดหน้ารวดเร็ว ส่วนข่าวร้ายคือหากต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณยาวนานขึ้นขนาดนี้ จะเอาเงินที่ไหนมาหล่อเลี้ยงชีวิต นอกเหนือจากพึ่งสวัสดิการแห่งรัฐ.


มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม