นักธุรกิจหญิง เจ้าของฉายา "ราชินีขยะ" ถูกนำตัวขึ้นศาลในสวีเดน โดยถูกกล่าวหาว่าทิ้งขยะกว่า 2 แสนตันอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นคดีอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

นักธุรกิจหญิงที่เรียกตัวเองว่า "ราชินีขยะ" ถูกนำตัวขึ้นศาลในสวีเดน โดยถูกกล่าวหาว่าทิ้งขยะจำนวนมากอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นคดีอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

นางเบลลา นิลส์สัน เป็นหนึ่งใน 11 ผู้ต้องหาในคดี "อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมร้ายแรง" เธอเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทจัดการขยะ NMT Think Pink ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทิ้งหรือฝังขยะ 200,000 ตัน ในสถานที่ 21 แห่ง ระหว่างปี 2558 ถึง 2563

ทนายความของนางนิลส์สัน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นฟาริบา แวนคอร์ และนายไลฟ์-อีวาน คาร์ลส์สัน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารอีกคน กล่าวว่าพวกเขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยนางนิลส์สันถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง และอาชญากรรมเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัท ส่วนคนอื่นๆ ถูกตั้งข้อหาหลายกระทง รวมทั้งอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง อาชญากรรมเศรษฐกิจที่ร้ายแรงซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัท ช่วยเหลือและสนับสนุนอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

นางนิลส์สันปฏิเสธที่จะตอบคำถามของนักข่าวขณะเข้าไปในศาลแขวงอัตทุนดา ทางเหนือของกรุงสตอกโฮล์ม อัยการกล่าวว่าวิธีการจัดการขยะอย่างไม่ถูกต้องส่งผลของบริษัท ส่งผลให้มีการปล่อยสารเคมีก่อมะเร็ง ตะกั่ว สารหนู และปรอทในระดับที่เป็นอันตรายสู่บรรยากาศ ดิน และน้ำ

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สืบสวนคดีนี้ซึ่งมีรายงานยาวถึง 50,000 หน้า พบว่ามีสารหนู ไดออกซิน สังกะสี ตะกั่ว ทองแดง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อยู่ในปริมาณที่เป็นอันตราย กองขยะหลายแห่งเกิดไฟไหม้ โดยที่แหล่งทิ้งขยะแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เกิดไฟไหม้เป็นเวลาสองเดือนหลังจากขยะเกิดการติดไฟขึ้นเอง

...

ตามคำฟ้องซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาล 15 แห่ง ผู้ต้องสงสัยหลักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนขยะจากการก่อสร้างและการรื้อถอนที่ไม่ได้คัดแยกหลายพันตัน จากนั้นจึงฝัง ห่อด้วยพลาสติกเป็นมัด และนำไปทิ้งรวมกัน

บริษัท Think Pink ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทก่อสร้าง เทศบาล และบุคคลทั่วไป ให้กำจัดขยะทุกอย่าง ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ พลาสติก ไม้ ยาง และของเล่น แต่บริษัทดังกล่าวทิ้งขยะโดยไม่มีการคัดแยก และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดการ

ก่อนหน้านี้ นางนิลส์สันเคยบอกกับสื่อสวีเดนว่า บริษัทของเธอได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย อัยการกล่าวว่าบริษัท NMT Think Pink ซึ่งล้มละลายในปี 2020 และนางเบลลา นิลส์สันถูกจับกุมนั้น "ไม่มีเจตนาหรือความสามารถที่จะจัดการขยะ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม" และกล่าวเสริมว่า วิธีการทิ้งขยะในสถานที่ดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช

ผู้ต้องหาทั้ง 11 คนปฏิเสธข้อกล่าวหา รวมถึงนายโทมัส นิลส์สัน อดีตสามีของเบลลา นิลส์สัน ซึ่งทนายความของเขากล่าวว่า เมื่อเขาดำรงตำแหน่งซีอีโอก่อนปี 2558 เขาไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในขณะที่กระทำความผิด.

ที่มา The Guardian

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign