- ใกล้เลือกตั้งสหรัฐฯเข้าไปทุกที การเปิดเผยข้อมูลและประสิทธิผลจากการดำเนินนโยบายด้านต่างๆของประธานาธิบดีไบเดน ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจ วันนี้จะพาไปสำรวจผลงานแต่ละด้านว่าการทำงานที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจอเมริกาดีกว่าหรือแย่กว่าการบริหารงานของทรัมป์อย่างไรบ้าง
- นางคามาลา แฮร์ริสผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครตที่ขึ้นมาแทนนายไบเดนมักจะระบุในระหว่างการหาเสียงเสมอว่า ตัวชี้วัดต่างๆชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯในขณะนี้แข็งแกร่งที่สุดในโลก ในขณะที่ทรัมป์คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเองก็มักจะอ้างเสมอว่า เขานี่แหละคือผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
- เพราะปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสหรัฐฯ จึงต้องเอาตัวเลขมากางเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิง เปรียบเทียบข้อมูลแต่ละด้านให้เห็นกันแบบชัดเจน เพื่อจะได้ฟังการดีเบตแบบมีข้อมูลในมือเพื่อชั่งน้ำหนักว่าใครโฆษณาชวนเชื่อ และใครที่ให้ข้อมูลจริง
การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
...
แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้การเปรียบเทียบความสำเร็จทางเศรษฐกิจระหว่างนายไบเดน และนายทรัมป์ค่อนข้างยาก แต่ทั้งสองคนก็มีผลงานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นที่พอจะนำมาพิจารณาได้
ประการแรก หากดูการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวเลข จีดีพี หลังจากที่เศรษฐกิจพังในช่วงโควิด-19ระบาด นับว่าภาคธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ ซึ่งนับว่ามีการฟื้นตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆในฝั่งตะวันตก
และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนี้ก็ยังเป็นไปด้วยดีหลังจากที่ไบเดนขึ้นมารับตำแหน่งต่อ โดยสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวจากโรคระบาดที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มG7เมื่อวัดจาก GDP
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ทรัมป์บริหารประเทศนาน 4 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐฯตามที่เขาชอบกล่าวอ้าง โดยในระหว่างเดือนมกราคมปี 2017- มกราคมปี 2021 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรวมถึงช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวและฟื้นตัวจากผลพวงของการระบาดของโควิด-19 ด้วย ส่วนภายใต้การบริหารงานของไบเดน ตัวเลขนี้อยู่ที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกันมากๆ และยังมีช่วงที่การเติบโตของจีดีพีสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งภายใต้การบริหารของทรัมป์และของไบเดน
ทรัมป์เคยพูดเอาไว้ว่า สหรัฐฯต้องเผชิญกับเงินเฟ้อครั้งเลวร้ายที่สุดที่เคยมีมาแต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยอัตราเงินเฟ้อเคยอยู่เหนือ 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 1981 และยังเคยสูงกว่านั้นมากในหลายช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐฯ ในขณะที่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ราว 3 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ยังคงสูงกว่าตอนที่ทรัมป์หมดวาระ ยกตัวอย่างเช่นราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้นถึง 13.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2022 ซึ่งถือว่ามากที่สุดภายใต้การบริหารงานของนายไบเดนและราคาก็ทรงตัวอยู่ราวนั้นนับตั้งแต่นั้นโดยนับว่าราคาข้าวของเครื่องใช้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.1 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกรกฎาคมปี 2023 จนถึงกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับชาติตะวันตกอื่นๆที่ต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในปี 2021และ 2022 ซึ่งมีปัจจัยมาจากโควิด รวมทั้งสงครามยูเครน
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็คือแผนช่วยเหลือชาวอเมริกัน หรือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของนายไบเดนที่อัดฉีดเงินสดไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินค้าสูงเพิ่มขึ้นไปด้วย
การจ้างงาน
รัฐบาลของไบเดนมักจะชูประเด็นการสร้างงานอย่างแข็งแกร่งเป็นความสำเร็จของรัฐบาลของเขา
โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิดในปี 2020จนทำให้คนตกงานกันมหาศาล ในช่วง 3 ปีแรกภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านอัตรา และนับตั้งแต่นายไบเดนได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในเดือนมกราคมปี 2021 อัตราการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นเกือบ 16 ล้านตำแหน่ง ทำให้นายไบเดนอ้างได้ว่า เขาทำให้อัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐฯซึ่งก็เป็นความจริงหากย้อนดูตามข้อมูลจนถึงปี 1939 แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลของเขาได้ผลพลอยได้จากการฟื้นตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังจากยกเลิกการล็อกดาวน์ไป
โดยศาสตราจารย์ มาร์ก สเตรน นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ระบุว่า หากในปี 2020เป็นทรัมป์ที่ได้เข้ามาบริหาร งานจำนวนมหาศาลก็จะเพิ่มกลับคืนมาในเวลานั้นเช่นเดียวกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนช่วยเหลือชาวอเมริกัน (American Rescue Plan)มีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่ง และกระตุ้นการจ้างงานให้ฟื้นตัวได้รวดเร็ว
...
ขณะเดียวกันตัวแทนรณรงค์หาเสียงของทั้งสองพรรค ต่างก็ยกจุดแข็งในการทำให้อัตราการว่างงานต่ำมาหาเสียงด้วยกันทั้งคู่
โดยช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ทรัมป์ทำให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ และในขณะที่ มาตรการล็อกดาวน์จากโควิดส่งผลให้อัตราการว่างงาน ในหลายพื้นที่ของโลก เพิ่มสูงขึ้น แต่ในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานกลับลดลงเหลือประมาณ7% เมื่อทรัมป์ลงจากตำแหน่ง
ส่วนรัฐบาลของนายไบเดน อัตราการว่างงานได้ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 4.3 เปอร์เซ็นต์
อัตราค่าแรง
สำหรับประเด็นเรื่องอัตราค่าแรง มีการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงที่ทรัมป์บริหารประเทศจริงแต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามามากนัก จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19
โดยแรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2020 ในช่วงโควิด แต่ค่าจ้างที่ปรับขึ้นอย่างกระทันหันนั้นเป็นเพราะคนงานที่มีค่าแรงต่ำมีแนวโน้มที่จะถูกปลด ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานที่ยังเหลืออยู่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
...
ขณะที่ในสมัยรัฐบาลของนายไบเดน ค่าแรงเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้น แต่พวกเขาต้องเผชิญกับราคาข้าวของที่แพงขั้นตามระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั่นเอง และเมื่อมีการปรับอัตราเงินเฟ้อแล้วจะพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์น้อยกว่าในช่วงที่นายไบเดนเพิ่งเข้ามาบริหารงาน
ตลาดการเงิน
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะไม่ใช่แหล่งอ้างอิงที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากก็ลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นก็พอจะชี้วัดนัยบางอย่างได้
โดยดัชนีดาวน์โจนส์เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่ 30 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ
โดยมีการปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในยุคของทรัมป์ แต่ตลาดหุ้นก็ดิ่งลงหลังเผชิญการระบาดของโควิดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นเหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาดเมื่อทรัมป์ออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม 2021และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้การนำของนายไบเดน และถึงแม้จะมีความปั่นป่วนในช่วงนี้ แต่พวกเขาก็ก้าวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายใต้การบริหารของไบเดนเช่นกัน
...
นี่เป็นเพียงข้อมูลด้านเศรษฐกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังมีผลงานอีกหลายด้านที่ยังคงต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย โดยสิ่งที่น่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือการได้นางแฮร์ริสเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ภายใต้นโยบายเดิมของพรรค ซึ่งหากดูจากผลโพลหลายๆสำนักก็พบว่านางแฮร์ริสมีคะแนนนำนายทรัมป์อยู่ราว 2-10เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนน้อยที่ทรัมป์มีคะแนนความนิยมนำแฮร์ริส จึงน่าจะการันตีได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กองเชียร์ของทั้งสองพรรคน่าจะต้องลุ้นกันสนุก และหากใครพลาดพลั้งในโค้งสุดท้าย ฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะพลิกกลับมาเอาชนะได้ทุกเมื่อ.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รายงานพิเศษ