• จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายคู่ขนานที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ทั้งในด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำให้งานต่างๆ กลายเป็นงานที่ต้องทำอยู่กับที่หรือต้องนั่งทำงานที่โต๊ะทำงานมากขึ้น ในขณะที่การเติบโตที่ชะลอตัวเป็นเวลานานทำให้ผู้คนต้องหันไปรับประทานอาหารที่ถูกกว่าและไม่ดีต่อสุขภาพ
  • แพทย์และนักวิชาการกล่าวว่า ความเครียดจากงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ กำลังเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับประชากรจีนที่ใช้ชีวิตในเมือง ในขณะที่พื้นที่ชนบท งานด้านเกษตรกรรมกำลังลดความต้องการทางกายภาพลง และการดูแลสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ทำให้การคัดกรองและการดูแลปัญหาเรื่องน้ำหนักอยู่ในสภาพย่ำแย่
  • สื่อจีนรายงานว่า ผู้ใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ไว้ที่ 37% การศึกษาของ BMC Public Health คาดว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของงบประมาณด้านสาธารณสุข หรือราว 2.01 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 จาก 8% ในปี 2565 

เนื่องจากจีนสร้างที่พักอาศัยและรวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ น้อยลง จึงส่งผลให้ผู้บริโภคจึงซื้ออาหารที่มีราคาถูกและไม่ดีต่อสุขภาพ และเนื่องจากโรงงานและฟาร์มลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ ความท้าทายทางการเงินรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น นั่นคือ อัตราโรคอ้วนของประชากรในประเทศอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

แพทย์และนักวิชาการกล่าวว่า ความเครียดจากงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ กำลังเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับประชากรที่ใช้ชีวิตในเมือง ในขณะที่พื้นที่ชนบท งานด้านเกษตรกรรมกำลังลดความต้องการทางกายภาพลง และการดูแลสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ทำให้การคัดกรองและการดูแลปัญหาเรื่องน้ำหนักอยู่ในสภาพย่ำแย่

...

จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายคู่ขนานที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ทั้งในด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำให้งานต่างๆ กลายเป็นงานที่ต้องทำอยู่กับที่หรือต้องนั่งทำงานที่โต๊ะทำงานมากขึ้น ในขณะที่การเติบโตที่ชะลอตัวเป็นเวลานานทำให้ผู้คนต้องหันไปรับประทานอาหารที่ถูกกว่าและไม่ดีต่อสุขภาพ

ตัวอย่างเช่น เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากมายอยู่แล้ว คนงานหลายล้านคนจึงเปลี่ยนจากงานด้านการก่อสร้างและการผลิต มาเป็นการขับรถให้กับบริษัทที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารหรือบริษัทขนส่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในสภาพสังคมที่เผชิญภาวะเงินฝืด ผู้บริโภคต้องการอาหารที่ราคาถูกกว่าซึ่งอาจไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ปกครองลดการเรียนว่ายน้ำหรือเล่นกีฬาอื่นๆ ของบุตรหลาน ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Daxue Consulting ตลาดอาหารจานด่วนของจีนคาดว่าจะเติบโตถึง 1.8 ล้านล้านหยวน (ราว 8.66 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 จากราว 4.29 ล้านล้านบาท ในปี 2560

หวง หยานจง นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกจาก Council on Foreign Relations กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน ส่งผลให้นิสัยการรับประทานอาหารอาจไม่สม่ำเสมอและกิจกรรมทางสังคมอาจลดลง"

เขากล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันเหล่านี้อาจส่งผลให้มีโรคอ้วนเพิ่มขึ้น และโรคเบาหวานตามมา พร้อมเสริมว่า เขาคาดว่าอัตราโรคอ้วนจะยังคงเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ส่งผลให้ระบบการดูแลสุขภาพต้องแบกรับภาระหนักกว่าเดิม

ส่วนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายเกา หยานหง เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (NHC) กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนและมีน้ำหนักเกินเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ

ด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานในเดือนเดียวกันว่า ผู้ใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ไว้ที่ 37%

การศึกษาวิจัยของ BMC Public Health ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของงบประมาณด้านสาธารณสุข หรือ 418,000 ล้านหยวน (ราว 2.01 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 จาก 8% ในปี 2565 การประมาณการดังกล่าวเป็นการประเมินแบบ "ระมัดระวัง" และไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ

ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจจะเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นหนี้อยู่แล้ว และลดความสามารถของจีนในการจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่มีประสิทธิผลมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโต

...


การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้


ในเดือนกรกฎาคม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนและหน่วยงานของรัฐอื่นอีก 15 แห่ง ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเพื่อต่อสู้กับโรคอ้วน การรณรงค์ซึ่งจะมีระยะเวลา 3 ปี นี้มีพื้นฐานมาจากคำขวัญ 8 คำ ได้แก่ "ความมุ่งมั่นตลอดชีวิต, การติดตามผลอย่างแข็งขัน, การรับประทานอาหารที่สมดุล, การออกกำลังกาย, การนอนหลับที่ดี, เป้าหมายที่เหมาะสม, และการดำเนินการของครอบครัว"

แนวทางด้านสุขภาพได้ถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาในเดือนกรกฎาคม โดยเรียกร้องให้มีการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายทุกวัน การว่าจ้างนักโภชนาการ และปฏิบัติตามสุขนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณเกลือ น้ำมัน และน้ำตาล

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บุคคลที่มีน้ำหนักเกิน คือผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) 25 ขึ้นไป ในขณะที่เกณฑ์ BMI สำหรับโรคอ้วนคือ 30
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าชาวจีนเพียง 8% เท่านั้นที่ถือว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่ำกว่าอัตราโรคอ้วนของสหรัฐฯ ที่มี 42% ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหม่ในจีน ซึ่งเคยประสบกับภาวะอดอยากอย่างกว้างขวาง ในช่วงทศวรรษ 1960

คริสตินา เมเยอร์ นักวิเคราะห์นโยบายด้านสุขภาพจาก RTI International ในเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ กล่าวว่า "จีนได้ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยา โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ ได้เปลี่ยนไปเป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและใช้ชีวิตแบบอยู่ประจำที่เพิ่มมากขึ้น"

ปัจจัยเชิงโครงสร้าง

แพทย์ชาวจีนกล่าวว่า ในขณะที่ผู้บริโภคและคนทำงานปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษหน้า ชาวจีน ที่มีน้ำหนักเกินจำนวนมากอาจก้าวข้ามเกณฑ์โรคอ้วนได้

...

จุน ซอง คิม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซุงกยุนกวัน ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในจีนอาจส่งผลให้การบริโภคอาหารคุณภาพต่ำ เช่น อาหารจานด่วน เพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ลดลง ซึ่งในทางกลับกันก็อาจส่งผลต่อโรคอ้วนได้เช่นกัน"

การผลักดันใหม่ของจีนในการเพิ่มอัตราการขยายตัวของเมืองนั้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาจากวัฒนธรรมการทำงานแบบ "996" ของจีนที่เน้นการทำงานกะละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์

ปุย คี ซู แพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาลราฟเฟิลส์ ปักกิ่ง กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายรายงานว่ารับประทานอาหาร เพราะต้องการ "คลายเครียด” จากการทำงาน

ขณะที่สัดส่วนของเด็กชายที่มีภาวะอ้วนในจีนพุ่งขึ้นเป็น 15.2% ในปี 2565 จาก 1.3% ในปี 2533 ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่มี 22% แต่สูงกว่าญี่ปุ่นที่มี 6% อังกฤษและแคนาดาที่มี 12% และอินเดียที่มี 4% ส่วนโรคอ้วนในเด็กผู้หญิงพุ่งขึ้นเป็น 7.7% ในปี 2022 จาก 0.6% ในปี 1990

ดร.หลี่ โด่ว หัวหน้าศาสตราจารย์ด้านโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยชิงเต่า กล่าวว่า นักเรียนจำนวนมากซื้อของขบเคี้ยวที่หน้าประตูโรงเรียนหรือระหว่างทางกลับบ้าน ซึ่งมักมีปริมาณเกลือ น้ำตาล และน้ำมันสูง 

ดร.หลี่กล่าวเสริมว่า รัฐบาลควรเพิ่มการสื่อสารกับบริษัทผลิตอาหาร โรงเรียน ชุมชน และผู้ค้าปลีกเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคอ้วนที่เกิดจากอาหารขยะหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

"จีนควรห้ามการขายอาหารขยะและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในโรงเรียน และไม่ควรมีร้านค้าที่ขายอาหารขยะภายในระยะทางที่กำหนดรอบๆ โรงเรียน".

ที่มา Reuters

...

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign