นับถอยหลังกับ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ในศึกระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และคามาลา แฮร์ริสจากพรรคเดโมแครตที่เปิดเวทีหาเสียงกันอย่างดุเดือดทั้ง 2 ฝ่าย

กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลกทั้งแง่ขับเคี่ยวนโยบายเศรษฐกิจ การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงเข้มข้นขึ้นกระทบทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเตรียมแผนตั้งรับกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย จึงจัดติวเข้มนักข่าวเตรียมพร้อมศึกเลือกตั้งนี้

โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันความรู้ และวิเคราะห์ผลกระทบอาจเกิดขึ้นต่อไทย และทั่วโลกจาก ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ได้พูดบนเวทีเสวนาหัวข้อเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ 2024 กับฉากทัศน์ต่อไปของไทยและโลก ว่า

ที่ผ่านมาการเลือกตั้งสหรัฐฯมักเกิดเหตุไม่คาดฝันอยู่เสมออย่างคราวนี้ก็มีเหตุลอบสังหาร “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้รับสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคริพับลิกัน ในขณะที่ฝั่งพรรคเดโมแครตก็เปลี่ยนตัวผู้รับสมัครเลือกตั้งกะทันหันจาก “โจ ไบเดน” ก็ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุน “คามาลา แฮร์ริส” ลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯแทน

...

ทำให้ห้วงเวลาที่เหลือก่อน “การเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย.นี้” ทั่วโลกคงต้องลุ้นต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก เพราะการเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักนำมาซึ่งนโยบายต่างประเทศที่มีความสำคัญทางการทูตกับประเทศต่างๆ

ขณะที่ “คนอเมริกา” ก็คาดหวังกับการเลือกตั้งที่จะได้ “ผู้นำ” มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อไปจนถึงความมั่นคงของประชาธิปไตยในประเทศ เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้จนคนอเมริกาไม่มั่นใจทำให้คะแนนความนิยมตกต่ำลงมาก ดังนั้นการเลือกตั้งมีความหมายที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้

แต่ถ้าพูดถึงประเด็น “อายุผู้สมัครชิงประธานาธิบดี” เรื่องนี้ต้องมองถึงประสบการณ์การทำงานด้วยอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” เคยผ่านการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อน แต่เมื่อเทียบกับ “คามาลา แฮร์ริส” ในช่วง 4 ปีมานี้แม้จะได้เป็นรองประธานาธิบดีแต่ก็ยังไม่เห็นบทบาทอันโด่ดเด่นมากนักจึงยังเป็นจุดอ่อนอยู่มาก

เรื่องนี้ทำให้ “คามาลา แฮร์ริส” ต้องทำการบ้านเสริมขึ้นโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ส่วนสำหรับ “กลยุทธ์การหาเสียง” เรื่องนี้เคยเขียนบทความการสังหารภาพลักษณ์ของคู่แข่งที่การเลือกตั้งคราวนี้กำลังใช้กันเยอะของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูด การเหยียด หรือการขุดประเด็นภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายขึ้นมา เช่น ตอนนี้ขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวคามาลา แฮร์ริส ที่ถูกกล่าวหาเคยเป็นชู้ มาใช้โจมตีค่อนข้างรุนแรง

แล้วการศึกษาเรื่องเหล่านี้ก็มีผลให้ “คนอเมริกาที่ยังไม่ตัดสินใจเปลี่ยนใจได้” ทั้งที่ความจริงควรสนใจในนโยบายว่าจะเกิดผลดีกับประชาชนแค่ไหนมากกว่าการรับฟังข่าวสารการโจมตีที่อาจเป็นข่าวไม่จริงด้วยซ้ำ

ถ้าพูดถึงจุดพลิกผัน “การเลือกตั้งสหรัฐฯ” ที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะนั้นถ้าดูจากโพลแล้ว “คามาลา แฮร์ริส” มีแต้มต่อในเขตอุตสาหกรรมรกร้างในแถบรัฐเพนซิลเวเนีย รัฐมิชิแกน อันเป็นจุดชิงชัยชนะได้ ในส่วนบริเวณตอนใต้แถบรัฐฟลอริดา รัฐเท็กซัส ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ชิงเสียงโหวตได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามจุดพลิกผันอื่นที่มักเป็นสิ่งเหนือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯมักมีผลกระทบต่อ “ประเทศจีน” สังเกตจากที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ก็เผชิญหน้าโดยตรงมาตลอดในส่วนโจ ไบเดน จะอาศัยกลยุทธ์ปิดล้อมจากพันธมิตรแล้วก็เชื่อว่าคามาลา แฮร์ริส ก็จะมีวิธีการจัดการกับจีนเช่นกัน

...

เช่นเดียวกับ สนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า สหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยรองจากประเทศจีน โดยมูลค่าการค้าสหรัฐฯ-ไทยอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ประเทศไทยนำเข้า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และส่งออก 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์

การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ หาก “โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี” แน่นอนว่าจะต้องขึ้นภาษีการค้านำเข้า 10% จากทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนจะถูกปรับขึ้นถึง 60% แต่หากเป็น “คามาลา แฮร์ริส” นโยบายด้านเศรษฐกิจมีประสบการณ์น้อย แต่จะเน้นนโยบายหลักอย่างสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หรือคามาลา แฮร์ริส เป็นประธานาธิบดี “ประเทศไทย” ก็ต้องมีการปรับตัว เพราะนักธุรกิจในสหรัฐฯที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจะมอง 3 เรื่องหลักคือ 1.ความเป็นประชาธิปไตย 2.ความเสถียรภาพทางการเมือง 3.เรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งต้องปรับตัวด้านเทคโนโลยีระดับสูง เรื่อง AI และอัตราค่าไฟฟ้าที่ราคาแพงด้วย

ทว่าการบ้านสำหรับ “นายกฯคนใหม่” สิ่งที่ปรากฏในการเมืองไทยตอนนี้นับเป็นสัญญาณที่ดี “ไม่ก่อสุญญากาศการขับเคลื่อนประเทศ” เพราะเคยพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติมักบอกเสมอ “ไทยมีจีดีพีเฉลี่ยสิบกว่าปีโตเพียง 1.9 ไม่ถึง 2” แสดงว่าต้องมีอะไรที่ไปต่อไม่ได้ แต่เมื่อสำรวจพบว่าไทยยังกินบุญเก่าด้วยอุตสาหกรรมเก่าๆ

...

ฉะนั้นรัฐบาลใหม่ต้องรื้อโครงสร้าง เห็นได้ชัด 1 ปีมานี้ “เศรษฐกิจไทยทรุดมาก” แถมไม่เห็นกลยุทธ์จะแก้ให้กลับมารุ่งอีกครั้ง “เป็นหน้าที่ที่ผู้นำคนใหม่” ต้องโชว์นโยบายสร้างความมั่นใจดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ

สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญมี 4 ด้าน คือ 1.ความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์แม้จะถูกกดดันจากฝ่ายขั้วอำนาจมาตลอดแต่ก็รับมือได้จนเป็นประเทศเล็กมีพื้นที่ใหญ่หลายประเทศต้องพึ่งพา 2.ความท้าทายด้านประชากร ด้วยประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุคงต้องแก้ปัญหาให้เหมือนกับสหรัฐฯ หรือสิงคโปร์

เมื่อคนไม่พอก็เปิดกว้างรับคนเก่งต่างประเทศมาทำงานด้วยการแก้กฎหมายให้เอื้อ 3.ความท้าทายทางเทคโนโลยีด้วยคนไทยอ่อนด้านนี้ก็ต้องนำคนมีความรู้มาทำงาน 4.ความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วน “อาเซียน” ถ้าร่วมมือกันจะเป็นพลังต่อรองกับทั่วโลกได้ดีเพียงแต่ระดับอาเซียนยังมีความขัดแย้งกันอย่างเรื่องใกล้ตัวเรา “การส่งออกทุเรียน” เดิมเป็นประเทศส่งออกเจ้าเดียวแต่ปัจจุบัน “ทุเรียนเวียดนาม” เริ่มตีตลาดมากขึ้น หรือข้าวก็ถูกชิงตลาดไปแล้ว อย่างไรก็ดีหากร่วมมือกันได้อำนาจการเจรจาต่อรองจะสูงมาก

...

นี่เป็นบทวิเคราะห์ “ฉากทัศน์การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ 2024” ที่จะทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้เราต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม