กลายเป็นประเด็นที่สร้างความขบขันแก่คนรัสเซียอีกครั้ง หลังวันก่อนได้มีการเผยแพร่คลิปนายทหารเยอรมนี กางแผนที่อธิบายเส้นทางที่กองทัพยูเครนใช้บุกเข้าไปในจังหวัดคูร์สก์ของรัสเซีย

เพราะสุดท้ายมันถือเป็นการตอกย้ำว่า ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย ภาพวิดีโอที่ปรากฏในวันนี้ ไม่ได้ต่างอะไรเลยกับภาพคณะเสนาธิการของกองทัพเยอรมนีวางแผนการเคลื่อนพลเข้าไปในดินแดนรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่รัสเซียเรียกกันว่ามหาสงครามคนรักชาติ

โดยเฉพาะศึกชี้ขาดระหว่างกองทัพเยอรมนี กับกองทัพแดงสหภาพโซเวียตในช่วงปี 2486 ภายใต้รหัสปฏิบัติการ “ซิทาเดล” แถมไทม์ไลน์ยังถือว่าไล่เลี่ยกัน การโจมตีในอดีตของกองทัพเยอรมนีเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ขณะที่การโจมตีของกองทัพยูเครนเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.

ในอดีตครานั้น กองทัพเยอรมนีเพิ่งประสบความพ่ายแพ้อย่างหนักในสมรภูมิ “สตาลิน กราด” กองทัพที่ 6 ถูกปิดล้อมและบดขยี้ละลายสิ้น สถานการณ์พลิกกลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ และเป็นเหตุให้กองทัพเยอรมนีพยายามสร้าง “โมเมนตัม” ของการบุกขึ้นมาใหม่

เป็นที่มาของการเลือกจังหวัด “คูร์สก์” เป็นจุดเปลี่ยนเกม บุกตีแบบคีมหนีบจาก 2 แนวรบ โดยทางตอนเหนือบุกออกมาจากเบลารุส ขณะที่ทางตอนใต้บุกออกมาจากเบลโกรอด (ซึ่งการบุกเบลโกรอด ไม่ต่างอะไร กับที่ยูเครนทำอยู่) หวังให้ 2 เหล่าทัพมาบรรจบกันที่เมืองคูร์สก์ เพื่อกักขังทัพรัสเซียเรือนแสนที่ตรึงกำลังอยู่ตลอดแนวรบ

อย่างไรก็ตาม ในปฏิบัติการครั้งนั้นกองทัพเยอรมนีรุกคืบไปไม่ถึงเป้าหมาย เผชิญกับแนวรับแบบลึกหลายชั้น และการตีโต้แบบถาโถมของกองทัพแดง ถึงแม้ความสูญเสียของรัสเซียจะมากกว่า 5-6 เท่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทัพเยอรมนีคือ ความบอบช้ำของหน่วยรบหัวกะทิ-ทหารเจนศึก ซึ่งยากที่จะทดแทนในเวลาอันสั้น

...

จากวันนั้นมาวันนี้ กองทัพยูเครนได้ขนหน่วยรบหัวกะทิทั้งกองพันยานเกราะและหน่วยพลร่มจู่โจม เปิดฉากรุกเข้าไปในจังหวัดคูร์สก์ของรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งความคืบหน้าคือ การตีทะลวงกำลังอยู่ในสภาพชะงักงัน และทัพรัสเซียกำลังขนกำลังเสริมเข้ามาอุดรูรั่วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมยิงระยะไกล “นวด” หน่วยรบยูเครน

จนกลายเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าในคราวของยูเครน รูปการณ์จะหวนมาลงเอย แบบเดิมหรือไม่? เพราะการศึกเมืองคูร์สก์ปี 2486 มีผลลัพธ์คือ กองทัพเยอรมนีไม่สามารถบุกครั้งใหญ่ได้อีกจนจบสงครามในอีก 2 ปีต่อมา.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม