เมื่อ 23 ส.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอบรับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ เพื่อชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. หลังสิ้นสุดการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งส่งผลให้นางแฮร์ริส เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ขึ้นเป็นตัวแทนพรรคในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ
ทั้งนี้ สำนักข่าวด้านการเมืองโพลิติโกของสหรัฐฯ วิเคราะห์คำกล่าวสุนทรพจน์ของนางแฮร์ริส เมื่อ 22 ส.ค. โดยถือว่าสอบผ่านและซื้อใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากถ้อยแถลงของนางแฮร์ริสมีลักษณะคล้ายคลึงกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ถึง 3 คน คือ นายจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช นายบิล คลินตัน และนายบารัค โอบามา ที่เน้นย้ำถึงครอบครัวและการต่อสู้กับความทุกข์ยาก รวมถึงยึดถือคุณค่าเดียวกับประชาชน
โดยนางแฮร์ริสบอกเล่าเรื่องราวภูมิหลังของตัวเองว่ามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง มารดาของนางแฮร์ริสมาจากอินเดีย ก่อร่างสร้างตัวจนสามารถเช่าอพาร์ตเมนต์เล็กๆได้ รวมทั้งสอนให้ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม ตัวเองไม่ได้แตกต่างจากชาวอเมริกัน แต่มาจากรากเหง้าเดียวกัน และมีชีวิตธรรมดาเหมือนทุกคน ซึ่งบ่งชี้ว่านางแฮร์ริสต้องการชูภาพลักษณ์ว่าตัวเองไม่ใช่ชนชั้นสูงแต่เป็นคนที่จับต้องได้และเป็นพวกลงมือทำ
ในสุนทรพจน์ครั้งนี้ นางแฮร์ริสยังใช้เวลาราว 35 นาที กล่าวโจมตีนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน โดยเตือนว่าหากนายทรัมป์กลับมานั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาวได้อีกครั้ง จะทำให้สหรัฐฯ กลับสู่วังวน ของความโกลาหลและหายนะ นายทรัมป์เป็นเผด็จการที่อาจใช้อำนาจที่มีไปรับใช้คนอื่น อย่างผู้นำเกาหลีเหนือหรืออิหร่าน ไม่ได้รับใช้ประชาชน พร้อมชี้ว่านายทรัมป์ต่างจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่คือต่อต้านสิทธิการทำแท้ง
...
นอกจากนี้ นางแฮร์ริสเสนอนโยบายที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม อย่างการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ยกเว้นภาษีให้กับชนชั้นกลาง และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยได้ ยังเผยแผนนโยบายต่างประเทศด้วยว่า จะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากอิหร่าน ไม่โอนอ่อนต่อพวกทรราชและเผด็จการ รวมทั้งพร้อมยืนหยัดข้างยูเครน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่