วันเสาร์สบายๆ วันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปดู “การเมืองอเมริกัน” กันนะครับ อเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ตามประเพณีการเมืองอเมริกัน แม้จะรู้ว่าใครเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงประธานาธิบดีล่วงหน้า แต่การประกาศชื่ออย่างเป็นทางการจะต้องทำในที่ประชุมใหญ่พรรค ซึ่งมีสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมหลายหมื่นคน การประชุมใหญ่จะมีอดีตประธานาธิบดีและสมาชิกพรรคคนสำคัญสปีชกันนานถึงสี่วันสี่คืน วันที่สามจะมีการประกาศชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี วันสุดท้ายจะเป็นการประกาศชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
พรรคเดโมแครต มีการประชุมใหญ่พรรคตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ถึงพฤหัสบดี 22 สิงหาคม ที่ นครชิคาโก ซึ่งเป็นฐานเสียงพรรคเดโมแครต ใครได้ดูวิดีโอการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตแล้ว ก็อดที่จะตื่นเต้นไปกับความยิ่งใหญ่อลังการของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯไม่ได้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 81 ปี ผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันซึ่งเปิดทางให้ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีครั้งนี้ขึ้นเวทีปราศรัยในที่ประชุมใหญ่เป็นคนแรก ท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับอย่างยาวนาน คำพูดประโยคแรกที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดกับสมาชิกพรรคที่ส่งเสียงเชียร์กันสนั่นก็คือ “America, I love you อเมริกา ผมรักคุณ” เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความรักชาติบ้านเมือง ฟังแล้วก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า เราเคยได้ยินนักการเมืองไทยพูดคำว่า “ประเทศไทยผมรักคุณ” หรือ “ผมรักประเทศไทย” หรือพูดถึง “ความรักชาติ” อย่างเต็มปากเต็มคำอย่างนี้บ้างไหม ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือนักการเมืองใหญ่ทั้งหลาย
ผมคิดว่า การตอกย้ำความรักชาติ ให้คนรักชาติบ้านเมืองแบบการเมืองอเมริกาเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชน “รักชาติ” มากกว่า “รักพรรคการเมือง” หรือ “รักตัวนักการเมือง” ในที่สุด เราก็จะได้คนที่รักชาติจริงๆเข้ามาเป็นผู้นำ ทำงานเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราและประชาชน ไม่ใช่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากชาติบ้านเมือง ทำงานตอบแทนบุญคุณหัวหน้าพรรคที่แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุญคุณส่วนตัว
...
การประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตครั้งนี้ เป็นการประชุมใหญ่ที่คึกคักที่สุดครั้งหนึ่ง นางกมลา แฮร์ริส ได้รับเสียงเชียร์อย่างล้นหลาม ได้รับการรับรองจากตัวแทนพรรค (delegate) สูงถึง 99% แม้เธอจะมีเชื้อสายอินเดียก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดย ดิ อีโคโนมิสต์ ร่วมกับ ยูกอฟ ระหว่าง 17–20 สิงหาคม พบว่า นางกมลา แฮร์ริส มีคะแนนนิยมเหนือโดนัลด์ ทรัมป์ 46% ต่อ 43% แต่ศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯคะแนนชี้ขาดจะอยู่ที่รัฐที่เป็นสวิงสเตท โพลทุกสำนักจึงให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แฮร์ริสและทรัมป์มีคะแนนที่สูสีกันมาก
ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ นางกมลา แฮร์ริส ได้รับเสียงเชียร์อย่างท่วมท้นก็คือ “นโยบายการสร้างชนชั้นกลาง” ในสหรัฐฯที่กำลังร่อยหรอลงไปทุกวัน (เหมือนชนชั้นกลางในประเทศไทย) เธอเห็นว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะยังแข็งแกร่ง แต่ราคาสินค้าแพงเกินไป “เราจะร่วมสร้างสิ่งที่ดิฉันเรียกว่า “เศรษฐกิจเพื่อโอกาสร่วมกัน” การสร้าง “คนชั้นกลาง” จะเป็นเป้าหมายที่นิยามการเป็นประธานา ธิบดีของฉัน เพราะดิฉันเชื่ออย่างยิ่งว่า เมื่อชนชั้นกลางแข็งแกร่งอเมริกาก็จะแข็งแกร่ง” (ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ก็ใช้นโยบายนี้ สร้างคนชั้นกลางขึ้นมาในจีนกว่า 300 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งจนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก)
ต้องรออีกนานเท่าไหร่ ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา จึงจะมี “นักการเมืองที่มีความรักชาติ” แบบนักการเมืองอเมริกันบ้าง กล้าพูดอย่างเต็มปากว่า “ผมรักประเทศไทย” จะไม่ทุจริตโกงกินประเทศไทย คนไทยจะได้ก้าวพ้นจากความยากจนเสียที.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม