ระยะนี้ชื่อของ “คอลิน หวง” ฮอตขึ้นผิดหูผิดตา หลัง “Temu” แอปฯขายของถูกจากจีนบุกประเทศไทย ถามกันให้แซ่ดว่าเจ้าของ “Temu” เป็นใครมาจากไหน และสร้างธุรกิจยังไง จนขึ้นเป็นมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของจีน ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 48,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการจัดอันดับล่าสุดของบลูมเบิร์ก

จุดเริ่มต้นของแอปฯจีน “Temu” ที่กำลังเขย่าโลก และถูกมองว่าอาจเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2022 โดยอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ของกูเกิล ที่ชื่อ “คอลิน หวง” หรือ “หวง เจิง” เขาเป็นชาวจีนแต่กำเนิด เกิดเมื่อปี 1980 ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง พ่อแม่เป็นพนักงานโรงงาน หวงฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เคยเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก และสำเร็จปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ระหว่างเรียนฝึกงานที่ไมโครซอฟท์ สำนักงานกรุงปักกิ่ง จากนั้นไปศึกษาปริญญาโทในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบในปี 2004 เขาได้รับจดหมายชวนเข้าทำงานจาก 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ทั้งไมโครซอฟท์, ไอบีเอ็ม และออราเคิล แต่เขาเลือกทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ของกูเกิล ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเติบโตจากธุรกิจเสิร์ชเอนจิน

ปี 2006 หวงเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อช่วยกูเกิลขยายธุรกิจในประเทศจีน และตัดสินใจลาออกในปีต่อมาเพื่อก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ของตัวเองชื่อว่า “Oku” ซึ่งประสบความสำเร็จเกินคาด และสามารถขายกิจการไปด้วยมูลค่ากว่า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010

เส้นทางสู่ความเป็นเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซเริ่มต้นจริงในปี 2015 เมื่อ หวงก่อตั้งแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์รูปแบบใหม่อย่าง “Pinduoduo” ก่อนจะแตกไลน์ออกมาเป็น “Temu” ในปี 2022 ที่กลายเป็นแจ็ค ผู้ฆ่ายักษ์ ช่วงชิงตำแหน่งเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ จาก “แจ็ค หม่า” แห่งอาลีบาบา

...

ความสำเร็จของ “พินตัวตัว” เป็นที่ประจักษ์หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ NASDAQ เมื่อปี 2018 โดยระดมทุนจากการทำ IPO ได้สูงถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนส่งให้หวงขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 13 ของประเทศจีน สองปีต่อมาเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานบริษัท กระทั่งปี 2021 ได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง และมอบสิทธิ์การออกเสียงหุ้นของเขาให้คณะกรรมการบริหาร โดยยังคงถือครองหุ้นส่วนใหญ่ไว้ 25%

ถามว่า “Temu” มีอะไรดี จึงเขย่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ทำไม การขายสินค้าราคาถูกจากจีนจึงทำให้หวงร่ำรวยมหาศาลในชั่วข้ามปี และทำไม “Temu” จึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของหลายๆประเทศ

ย้อนไปที่โมเดลของ “พินตัวตัว” โฟกัสที่ผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลัก โดยมีโมเดลธุรกิจแบบ “Social Shopping” คือซื้อด้วยกัน ประหยัดกว่า สนุกกว่า เขาใช้กลยุทธ์ขายสินค้าโดยเชิญชวนเพื่อนและครอบครัวของผู้ซื้อให้เข้ามามีส่วนร่วมในประสบการณ์การซื้อด้วยกัน เพื่อแลกกับส่วนลดที่มากขึ้น มีฟังก์ชันเด็ดอย่างการซื้อแบบกลุ่ม ที่ยิ่งรวมคนมาซื้อได้มากเท่าไหร่ ราคาสินค้ายิ่งถูกลงเท่านั้น กลยุทธ์นี้กระตุ้นให้ผู้ซื้อแชร์ลิงก์สินค้าไปยังเพื่อนและครอบครัว เพื่อชวนให้มาร่วมซื้อสินค้าด้วยกัน กระนั้น สินค้าแต่ละรายการต้องมีจำนวนผู้ซื้อขั้นต่ำ หากรวบรวมจำนวนผู้ซื้อไม่ถึงเกณฑ์ภายใน 24 ชั่วโมง การซื้อแบบกลุ่มจะถูกยกเลิกและคืนเงินให้ทันที รายได้หลักของ “พินตัวตัว” มาจากบริการตลาดออนไลน์ ซึ่งก็คือค่าคอมมิชชันที่ได้รับจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มและค่าโฆษณา “พินตัวตัว” เติบโตอย่างรวดเร็วจากกลยุทธ์นี้ โดยบางไตรมาสมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 100%

เมื่อมาถึงคิวของ “Temu” หวงตั้งใจปลุกปั้นเพื่อรุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในอเมริกา เมื่อปี 2022 โดยใช้โมเดลธุรกิจของพี่ใหญ่ “พินตัวตัว” ดึงดูดผู้ใช้บริการ คือรวมกลุ่มกันราคาถูกลง แต่ทีเด็ดของ “Temu” อยู่ที่ความหลากหลายของสินค้าที่มีให้เลือกกว่า 250 ชนิด เมื่อตีตลาดอเมริกาสำเร็จ “Temu” ก็บุกต่อไปยังออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สเปน, อังกฤษ, ละตินอเมริกา, แอฟริกาใต้ และล่าสุดคือประเทศไทย รวมเปิดให้บริการแล้วใน 49 ประเทศทั่วโลก

เมื่อต้นปี 2024 “Temu” ยกระดับตัวเอง ด้วยการทุ่มงบกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อโฆษณาในงานซุปเปอร์โบว์ล ส่งผลให้ยอดการค้นหาและใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมาร์เกตแคปของบริษัทแม่อย่าง “พินตัวตัว” มีมูลค่าสูงถึง 191,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำกำไรสุทธิในไตรมาสแรก ของปีนี้สูงขึ้นสามเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เรียกว่า “Temu” เป็นอภิชาตบุตรจริงๆ...ดิสรัปตลาดอีคอมเมิร์ซโลก ได้ขนาดนี้ จะไปสนอะไรกับเสียงคู่แข่งที่กล่าวหาว่าค้าขายไม่เป็นธรรม ก็นี่มันยุคปลาเร็วกินปลาใหญ่ ใครปรับตัวช้าต้องทำใจ!!

...

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม