• ไมค์ ลินช์ มหาเศรษฐี และนักธุรกิจใหญ่สายเทคโนโลยีชาวสหราชอาณาจักร เป็น 1 ใน 6 คนที่ยังคงหายสาบสูญ ในเหตุเรือยอชต์สุดหรูล่มในทะเลใกล้เกาะซิซิลี

  • นายลินช์เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้านบริษัทเทคโนโลยีมากที่สุดของสหราชอาณาจักร จนถูกเรียกว่า บิล เกตส์ แห่ง UK แต่ชีวิตของทั้ง 2 ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

  • ในขณะที่ บิล เกตส์ สร้างชื่อเสียงในฐานะเศรษฐีใจบุญ นายลินช์กลับต้องต่อสู้กับคดีฉ้อโกงมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเพิ่งพ้นข้อกล่าวหาที่ฟ้องโดยอัยการสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

ไมค์ ลินช์ มหาเศรษฐี และนักธุรกิจใหญ่สายเทคโนโลยีชาวสหราชอาณาจักร เป็น 1 ใน 6 คนที่ยังคงหายสาบสูญ ในเหตุเรือยอชต์สุดหรูชื่อว่า “บาเยเซียน” (Bayesian) ความยาว 56 ม. ล่มกลางทะเล นอกชายฝั่งของเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า เรือยอชต์ลำนี้เผชิญกับพายุรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดพายุงวงช้างในทะเล จนเสากระโดงเรือหัก ก่อนที่เรือจะเสียสมดุลและจมทะเล ผู้โดยสารและลูกเรือรวมทั้งสิ้น 22 ชีวิต ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 15 ราย รวมถึงนางแองเจลา บาคาเรส ภรรยาของนายลินช์ แต่ลูกสาววัย 18 ปีของทั้งสองยังคงสูญหาย

ไมค์ ลินช์ เป็นนักธุรกิจชาว UK เพียงไม่กี่คนที่สร้างบริษัทเทคโยโลยีระดับโลกได้สำเร็จ จนหลายคนเรียกเขาว่า “บิล เกตส์ แห่งสหราชอาณาจักร” แต่เรื่องราวของเขานั้น แตกต่างจากผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ผู้นั้นอย่างสิ้นเชิง

...

วัยเด็กและการก่อตั้งบริษัท ออโตโนมี

นายลินช์เกิดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2508 ที่ในไอร์แลนด์ เป็นบุตรชายของแม่ผู้เป็นพยาบาล และพ่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เติบโตขึ้นใกล้กับเมืองเชล์มสฟอร์ด ในมณฑลเอสเซกซ์ ก่อนจะศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนได้ปริญญาเอกสาขาวิชาคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ และได้รับทุนเพื่อการวิจัยในเวลาต่อมา

หลังจากเริ่มสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี 2-3 แห่ง รวมถึง “เคมบริดจ์ นิวโรไดนามิกส์” บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ตรวจจับและจำแนกลายนิ้วมือ, ใบหน้า และป้ายทะเบียนรถให้ตำรวจในปี 2534 เขาก็ตั้งบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง ชื่อว่า “ออโตโนมี” (Autonomy)

ซอฟต์แวร์ของออโตโนมี ใช้ “ทฤษฎีความน่าจะเป็นแบบเบย์” (Bayesian inference) เป็นแกนกลาง และถูกใช้โดยบริษัทที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก เช่น ข้อมูลโทรศัพท์มือถือ, อีเมล และวิดีโอ ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในเรื่องต่างๆ เช่น แนะนำคำตอบสำหรับเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ หรือมอนิเตอร์ช่องโทรทัศน์ เพื่อหาคำหรือประเด็นที่ต้องการ

ออโตโนมีเติบโตอย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จตลอดช่วงปลายปี ค.ส. 1990 ไปจนถึงช่วงต้นยุคปี 2000 ทำให้นายลินช์ได้รับรางวัลการชื่นชมมากมาย จนกระทั่งเขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE ในปี 2549 จากควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เพื่อเป็นการยอมรับในผลงานของเขา

ความสำเร็จนี้ยังทำให้เขากลายเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนายเดวิด คาเมรอน ในตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และเป็นหนึ่งในสมาชิกบอร์ดบริหารของสำนักข่าว บีบีซี ด้วย

นายลินช์ แต่งงานกับ น.ส.แองเจลา บาคาเรส และมีลูกสาวด้วยกัน 2 คน แต่เชื่อกันว่าลูกสาววัย 18 ปีของเขา เป็นหนึ่งในผู้สูญหายในเหตุเรือยอชต์ล่มด้วย และจนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรม

การขายออโตโนมี และคดีความ

ออโตโนมีได้รับความสนใจจากบริษัท “ฮิวเลตต์-แพคการ์ด” (HP) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ มาถึงขนาดที่พวกเขาเสนอขอซื้อบริษัทในราคามากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 แต่ใช้เวลาเพียง 1 ปี เท่านั้น HP ก็ทำให้มูลค้าของ ออโตโนมี ลดลงจากราคาที่พวกเขาซื้อมาถึง 8.8 พันล้านดอลลาร์ แต่ HP อ้างว่า พวกเขาพบการทำบัญชีอย่างไม่เหมาะสมร้ายแรงในออโตโนมี

หลังจากนั้นลินช์ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตัวเองมาโดยตลอด โดยในปี 2561 อัยการสหรัฐฯ ยื่นฟ้องร้องเขา กับนายสตีเฟน แชมเบอร์เลน อดีตรองประธานฝ่ายกรเงิน หลังจากก่อนหน้านั้น นายซูโชแวน ฮุสเซน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ ออโตโนมี ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินจำคุก 5 ปี ในคดีฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับการตกลงซื้อบริษัทของ HP ไปแล้ว

อัยการสหรัฐฯ กล่าวหาว่า นายลินช์จงใจทำให้มูลค่าของบริษัทออโตโนมีสูงเกินจริงก่อนขายให้ HP ด้วยการปกป้องธุรกิจรีเซลฮาร์ดแวร์ซึ่งขาดทุน และกล่าวหาเขาด้วยว่า ข่มขู่ หรือจ่ายเงินปิดปากผู้ที่พยายามออกมาเปิดเผยเรื่องราว

ต่อมาในปี 2562 HP ยื่นฟ้องร้องต่อศาลสูงกรุงลอนดอน เพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดย HP กล่าวหาว่า นายลินช์มีอำนาจการควบคุมสูงกว่านายฮุสเซน จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า ผู้ก่อตั้งออโตโนมีจะมีรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมฉ้อโกงที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในบริษัทของเขาเลย

นายจัสติซ ฮิลด์ยาร์ด ผู้พิพากษาศาลสูงในคดีนี้ ตัดสินในเดือนมกราคมปี 2565 ให้ HP ชนะคดี แต่ยังไม่ตัดสินว่าจะให้จำเลยชดใช้เป็นจำนวนเท่าใด แต่ผู้พิพากษาเคยบอกไว้ว่า จำนวนน่าจะน้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ HP เรียกร้องมา

...

ตัวเองสูญหาย จำเลยร่วมถูกรถชนตาย

ส่วนอัยการสหรัฐฯ พยายามของให้สหราชอาณาจักรส่งตัวนายลินช์มาดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงและสมรู้ร่วมคิด ในสหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายนายลินช์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตาม เขาเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่อังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และประกันตัวออกมาสู้คดีด้วยวงเงิน 10 ล้านปอนด์

ในเดือนกรกฎาคม 2564 ผู้พิพากษาศาลเทศบาลเวสต์มินสเตอร์ ตัดสินว่านายลินช์สามารถถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ได้ แต่นายลินช์ก็ยื่นเรื่องขอให้ทบทวนคำตัดสินอีกครั้ง แต่ถูกผู้พิพากษาศาลสูง จัสติซ สวิฟต์ ปฏิเสธในเดือนมกราคม 2565 และ น.ส.ปรีติ พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็อนุมัติเรื่องการส่งตัว

ลินช์พยายามอุทธณ์เพิ่มเติมแต่ไม่เป็นผล เขาถูกส่งตัวไปสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2566 และถูกกักบริเวณในบ้านที่ซานฟรานซิสโก เพื่อรอการไต่สวน

นายลินช์กับนายแชมเบอร์เลนเป็นจำเลยร่วมกันไปขึ้นศาลในวันที่ 18 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยลินช์ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงผ่านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์, ฉ้อโกงนักลงทุนตลาดหลักทรัพย์ และสมรู้ร่วมคิด รวม 16 กระทง ส่วนนายแชมเบอร์เลน โดยข้อหา ฉ้อโกงผ่านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และสมรู้ร่วมคิด รวม 15 กระทง

การไต่สวนดำเนินไป 11 สัปดาห์ ก่อนที่ศาลจะตัดสินให้นายลินช์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา เมื่อ 6 มิ.ย. ซึ่งนักธุรกิจชื่อดังผู้นี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า หลังจากนี้เขาวางแผนจะแก้ไขความไม่สมดุลในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ เพราะมันไม่ถูกต้องที่อัยการสหรัฐฯ มีอำนาจต่อชาวบริติชที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ มากกว่าตำรวจ UK

แต่นายลินช์กลับมาประสบเหตุเรือล่มและหายสาบสูญ เมื่อ 19 ส.ค. และที่น่าประหลาดก็คือ ในเช้าก่อนวันเกิดเหตุ นายแชมเบอร์เลนผู้เป็นจำเลยร่วมของเขา ก็ถูกรถชนขณะวิ่งออกกำลังกายในเคมบริดจ์เชียร์ ในอังกฤษ และเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : bbcthe guardiancnn

...