• สัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ "เอ็มพ็อกซ์" (Mpox) หรือฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 450 ศพ และเชื้อยังแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
  • ขณะเดียวกันพบการแพร่ระบาดนอกแอฟริกาเป็นครั้งแรกในสวีเดน และครั้งแรกของเอเชียที่ฟิลิปปินส์ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 10 รายแล้ว ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ของยุโรปเตือนว่า มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยเอ็กพ็อกซ์จะมาจากต่างประเทศมากขึ้น
  • ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเอ็มพ็อกซ์ และโควิด-19 ตั้งแต่ลักษณะการติดเชื้อ ไปจนถึงวัคซีนและยาต้านไวรัส ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า เชื้อไวรัสเอ็มพ็อกซ์จะแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกหรือไม่

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ หรือฝีดาษลิงในประเทศคองโก และที่อื่นๆ ในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก โดยต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้ โดยการระบาดในคองโก เริ่มต้นด้วยการแพร่กระจายของสายพันธุ์ประจำถิ่นที่เรียกว่า Clade I แต่สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Clade Ib ดูเหมือนว่าจะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเป็นประจำ โดยเฉพาะในเด็ก

นับตั้งแต่นั้นมา สวีเดนได้ประกาศพบผู้ป่วยโรคเอ็มพ็อกซ์รายแรก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พบผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกา ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ของยุโรปเตือนว่า มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยเอ็กพ็อกซ์จะมาจากต่างประเทศมากขึ้น

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์จะมีอาการ ได้แก่ ผื่นผิวหนัง หรือรอยโรคบนเยื่อเมือก ร่วมกับอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ไม่มีแรง และต่อมน้ำเหลืองบวม หากมองสถานการณ์ย้อนไปในปี 2565 องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศครั้งแรกเกี่ยวกับเอ็กพ็อกซ์ในเดือนกรกฎาคม โดยระหว่างปี 2565-2566 การระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 99,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ศพ ก่อนเพิกถอนสถานะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในเดือนพฤษภาคมปีต่อมา หลังจากที่จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมาก เนื่องจากความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มมากขึ้น และวัคซีนก็พร้อมใช้มากขึ้น

...

สถานการณ์แพร่ระบาดนอกแอฟริกา

กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ประกาศว่า พบผู้ป่วยโรค "เอ็มพ็อกซ์" รายใหม่ในฟิลิปปินส์ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 10 ราย โดยระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษชนิดเอ็มพ็อกซ์รายแรกที่พบในปีนี้ โดยผู้ป่วยรายสุดท้ายพบในเดือนธันวาคม 2566


กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวฟิลิปปินส์ อายุ 33 ปี ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ แต่มีการสัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มมีอาการ โดยอาการของผู้ป่วยเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 1 สัปดาห์ที่แล้ว จากการมีไข้ ซึ่งหลังจากนั้น 4 วัน ก็มีผื่นขึ้นชัดเจนที่ใบหน้า หลัง ท้ายทอย ลำตัว ขาหนีบ รวมถึงฝ่ามือและฝ่าเท้า
ผู้ป่วยรายนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งได้เก็บตัวอย่างจากรอยโรคบนผิวหนังและทดสอบด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสแบบเรียลไทม์ และผลการทดสอบพบว่าเป็นผลบวก สำหรับดีเอ็นเอของไวรัสเอ็มพ็อกซ์

ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสวีเดนกล่าวว่า พบผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ชาวสวีเดนที่ติดเชื้อขณะอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเป็นชนิด clade 1b ที่เกิดการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงสตอกโฮล์มแล้ว 

ขณะเดียวกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรปกล่าวว่า มีผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ที่นำเข้าจากแอฟริกาเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่สถานการณ์จะรุนแรง แต่โอกาสของการระบาดในท้องถิ่นในยุโรปยังต่ำมาก ขณะที่ทางฝั่งอเมริกาเหนือ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และแคนาดากล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่

ข้อแตกต่างระหว่างเอ็มพ็อกซ์และโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เอ็มพ็อกซ์แพร่กระจายช้ามาก แตกต่างกับเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่นานหลังจากตรวจพบไวรัสโคโรนาในประเทศจีน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณจากหลายร้อยเป็นหลายพัน ในสัปดาห์เดียวของเดือนมกราคม จำนวนเคสผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า

ต่อมาภายในเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 126,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4,600 ศพ ประมาณ 3 เดือนหลังจากตรวจพบไวรัสโคโรนาครั้งแรก

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา พบว่ากรณีของเอ็มพ็อกซ์ มีผู้ติดเชื้อเกือบ 100,000 รายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 ศพ โดยมีวัคซีน และมีการรักษาสำหรับเอ็มพ็อกซ์ แตกต่างจากในช่วงแรกๆ ของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันการระบาด

...

ดร.คริส เบย์เรอร์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่า เรามีสิ่งที่จำเป็นในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ และเขาเชื่อว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์เดียวกับที่เราเผชิญในช่วงโควิด ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีวัคซีนและไม่มียาต้านไวรัส

เอ็มพ็อกซ์จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่อีกครั้งหรือไม่


ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มน่าวิตกกังวล แต่ดูไม่น่าเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ โดยชี้ว่าโควิด-19 เกิดจากไวรัสในอากาศที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่อาจไม่แสดงอาการด้วย ในขณะที่เอ็มพ็อกซ์แพร่กระจายผ่านการสัมผัสทางผิวหนังอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนที่เปื้อน มักทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนังที่มองเห็นได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้คนมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นน้อยลง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางกายภาพอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มีรอยโรคคล้ายเอ็มพ็อกซ์ ไม่ใช้อุปกรณ์ เสื้อผ้า หรือผ้าปูที่นอนร่วมกัน และรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือเป็นประจำ

...

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อประชากรทั่วไปในประเทศที่ไม่มีการระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในขณะนี้ ผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา และ 96% ของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเหล่านั้นอยู่ในคองโก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ระบบสาธารณสุขส่วนใหญ่พังทลายลงจากภาวะความเครียด ภาวะทุพโภชนาการ โรคต่างๆ อาทิ อหิวาตกโรค และโรคหัด.