นักโบราณคดีได้ค้นพบแผ่นจารึกดินเหนียวอายุ 3,500 ปี ที่มีการจารึกด้วยอักษรลิ่ม ซึ่งเป็นรายการซื้อเฟอร์นิเจอร์หลายชุด ระหว่างการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในตุรกี
นักโบราณคดีได้ค้นพบแผ่นจารึกดินเหนียวอายุ 3,500 ปี ที่มีการจารึกด้วยอักษรลิ่ม ซึ่งเป็นรายการซื้อเฟอร์นิเจอร์หลายชุด ระหว่างการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในตุรกี ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงปลายยุคสำริดได้
อักษรลิ่มซึ่งเป็นรูปแบบการเขียนที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง ที่ถูกใช้ในตะวันออกกลางโบราณ ได้รับการบันทึกเป็นภาษาสุเมเรียน อัคคาเดียน และภาษาอื่นๆ ของเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่ปัจจุบันคืออิรัก
แผ่นจารึกดินเหนียวที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสตกาล ดูเหมือนว่าจะใช้เป็นใบเสร็จรายการสินค้าต่างๆ ที่อธิบายถึงการซื้อเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก
เมห์เมต เออร์ซอย รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกี กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เราเชื่อว่าแผ่นจารึกนี้ ซึ่งมีน้ำหนัก 28 กรัม จะให้มุมมองใหม่ในแง่ของความเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบรัฐในยุคสำริดตอนปลาย"
แผ่นจารึกนี้มีขนาดเพียง 4.2 x 3.5 เซนติเมตร และมีความหนา 1.6 เซนติเมตร นักวิจัยพบโบราณวัตถุนี้ที่ด้านนอกประตูเมืองโบราณ "อาลาลักห์" ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อแหล่งโบราณคดี "เทลล์ อัตชานา" แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ แผ่นจารึกขนาดเล็กนี้ถูกค้นพบในเดือนกรกฎาคม ระหว่างการบูรณะหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดย ดร.มูรัต อาการ์ หัวหน้าฝ่ายขุดค้น กล่าวว่า หลังจากภัยธรรมชาติ โบราณคดีได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูและเยียวยาชุมชน
...
ดร.จาค็อบ เลาอิงเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านอัสซีเรียวิทยา ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ กล่าวว่า เซอร์ ลีโอนาร์ด วูลลีย์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เคยทำการขุดค้นเมืองอาลาลักห์ เป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษปี 1930 เขาค้นพบแผ่นจารึกอักษรลิ่มในป้อมปราการที่อยู่ติดกับประตู โดยแผ่นจารึกใหม่นี้ อาจมาจากเอกสารแผ่นจารึกเดียวกัน หรือแผ่นจารึกอื่นที่ยังไม่ได้ขุดค้นในพื้นที่ป้อมปราการ และถูกพัดพามาที่ประตูดังกล่าว
ขณะนี้เลาอิงเกอร์ และเซย์เนป เทิร์กเกอร์ นักศึกษาปริญญาเอกในแผนกการศึกษาตะวันออกใกล้ ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กำลังแปลและศึกษาแผ่นจารึกดังกล่าวร่วมกับอาการ์ ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ในแผนกโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยมุสตาฟา เคมาล ในตุรกี
ผลการค้นพบดังกล่าวจะเผยแพร่ในงานวิจัยที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนำโดยเทิร์กเกอร์ แต่จนถึงขณะนี้การแปลแผ่นจารึกดังกล่าวเผยให้เห็นว่ามีการซื้อโต๊ะ เก้าอี้ และม้านั่งไม้ ประมาณ 200 ตัวขึ้นไป ในขณะที่แผ่นจารึกอื่นๆ จากเมืองอาลาลักห์ กล่าวถึงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สถานที่ดังกล่าว แต่ไม่มีการค้นพบแผ่นจารึกที่มีขนาดใหญ่เท่ากับแผ่นจารึกที่เพิ่งค้นพบ
ทีมวิจัยกำลังศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างแผ่นจารึกดังกล่าวกับแผ่นจารึกอื่นๆ ที่ขุดพบโดยวูลลีย์ รวมถึงแผ่นจารึกอักษรลิ่มที่กล่าวถึงเฟอร์นิเจอร์จากแหล่งโบราณคดียุคสำริดตอนปลายอื่นๆ เขากล่าวว่า เอกสารราชการ เช่น ที่พบในอาลาลักห์ ได้บันทึกจำนวนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่คนงานในวังสร้าง แจกจ่าย และใช้ เอกสารเหล่านี้จึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสังคมและเศรษฐกิจของอาลาลักห์.
ที่มา CNN
อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign