รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดการแข่งขันเพื่อหาไอเดียในการกู้ยุทโธปกรณ์เก่ากว่า 12,000 ตัน ที่ถูกทิ้งไว้ใต้ทะเลสาบหลายแห่ง ขึ้นมาอย่างปลอดภัย
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดการแข่งขันเพื่อหาไอเดียในการกู้ยุทโธปกรณ์เก่ากว่า 12,000 ตัน ที่ถูกทิ้งไว้ใต้ทะเลสาบหลายแห่ง หลังจากในช่วงหลายปีผ่านมา ที่กองทัพสวิสใช้ทะเลสาบเหล่านี้เป็นที่ทิ้งยุทโธปกรณ์เก่า โดยเชื่อว่าสามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัย
ตั้งแต่ปี 1918 ถึงปี 1964 กองทัพได้ทิ้งอาวุธที่ไม่ได้ใช้งานกว่า 12,000 ตัน ลงในทะเลสาบธูน, ลูเซิร์น และเบรียนซ์ เฉพาะในทะเลสาบลูเซิร์นเพียงแห่งเดียว มีอาวุธประมาณ 3,300 ตัน และในทะเลสาบเนอชาแตลอีก 4,500 ตัน ซึ่งกองทัพอากาศสวิสใช้สำหรับการฝึกทิ้งระเบิดจนถึงปี 2021 โดยอาวุธบางชิ้นอยู่ที่ความลึก 150 ถึง 220 เมตร แต่อาวุธบางชิ้นในทะเลสาบเนอชาแตลอยู่ลึกลงไปจากผิวน้ำเพียง 6 หรือ 7 เมตร
ขณะนี้สำนักงานอาวุธของรัฐบาลกลาง (Armasuisse) ได้สอบถามประชาชนว่าควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยแนวคิดที่ดีที่สุด 3 แนวคิด สำหรับวิธีการกู้ยุทโธปกรณ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะได้รับเงินรางวัลรวมกัน 50,000 ฟรังก์สวิส ขณะที่การดำเนินการคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์
ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการทิ้งกระสุนจำนวนมากในทะเลสาบของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่ทราบกันมานานหลายทศวรรษ แม้ว่าผู้คนจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อไม่นานนี้ก็ตาม นายมาร์กอส บูเซอร์ นักธรณีวิทยาชาวสวิส ซึ่งให้คำแนะนำกับรัฐบาลในเรื่องนี้ เขียนรายงานการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เตือนถึงอันตรายจากการทิ้งกระสุน
เขากล่าวว่า กระสุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสองประการ ประการแรก แม้ว่าจะอยู่ใต้น้ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดได้ เนื่องจากในหลายกรณี "กองทัพไม่ได้ถอดฟิวส์ออกก่อนทิ้งกระสุน" นอกจากนั้นยังอาจเกิดการปนเปื้อนของน้ำและดิน มีโอกาสที่ระเบิดทีเอ็นทีที่มีสารพิษสูง อาจทำให้ทะเลสาบและตะกอนปนเปื้อนได้
...
รัฐบาลสวิสยอมรับว่าปัจจัยต่างๆ เช่น ทัศนวิสัย วัตถุที่มีความเป็นแม่เหล็ก และน้ำหนักกระสุนแต่ละลูก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการกู้คืนยุทโธปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการประเมินเทคนิคการกู้คืนที่เป็นไปได้ เมื่อปี 2548 แสดงให้เห็นว่าวิธีแก้ปัญหาการกู้คืนยุทโธปกรณ์ที่มีผู้เสนอมา ล้วนมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศที่อ่อนไหวของทะเลสาบ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพของสวิตเซอร์แลนด์ละเลยเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ หมู่บ้านมิตโฮลซ์ ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ประสบเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในปี 1947 เมื่อกระสุน 3,000 ตัน ที่กองทัพเก็บไว้ในภูเขา เกิดระเบิดขึ้น
มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และหมู่บ้านถูกทำลาย เสียงระเบิดยังได้ยินไปถึงเมืองซูริก ที่อยู่ห่างออกไป 160 กิโลเมตร
ในปี 2001 มีผู้เสียชีวิต 11 รายในอุโมงค์กอตธาร์ด ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักสายหนึ่งที่เชื่อมยุโรปเหนือและใต้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจากการชนกันระหว่างรถบรรทุกสองคัน โดยพบว่าวัตถุระเบิดจำนวนมากซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการระเบิด ยังคงถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าใกล้ปากอุโมงค์ และหลังจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถดับไฟได้สำเร็จ กองทัพก็มาถึงพร้อมอุปกรณ์กำจัดระเบิด
นอกจากนั้น ในสัปดาห์นี้กองทัพเปิดเผยว่า รายงานจากพลเรือนที่พบวัตถุระเบิดที่ไม่ทำงานอยู่ในชนบทของสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 12% เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับปี 2022.
ที่มา BBC
อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign