ทั่วโลกต่างกำลังจับตา “การสู้รบในตะวันออกกลาง” ที่ทวีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น “หลังผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาสถูกสังหาร” จนทำให้ผู้นำของอิหร่าน และผู้นำฮิซบอลเลาะห์ประกาศล้างแค้นชนิดไม่สนผลตามมา ขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” ก็เคลื่อนทัพเข้าตะวันออกกลางเพื่อเตรียมรับมือเช่นกัน
กลายเป็นสัญญาณส่อเค้าขยายวง “สงครามเต็มรูปแบบระดับภูมิภาค” ที่จะมีผลต่อราคานํ้ามันตลาดโลกปรับตัวขึ้น แน่นอนว่าประเทศไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการนี้เช่นกัน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย บอกว่า
สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่อาจขยายวงมากกว่าเดิมหลังปฏิบัติการลอบสังหารอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฮามาสในกรุงเตหะรานของอิหร่านตามมาด้วยการส่งกองเรือรบสหรัฐฯเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้
ทำให้การเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาชะงักแต่คงไม่ลุกลามเปลี่ยนสงครามตัวแทนผ่านกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Militant Groups) ให้เป็นสงครามเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลโดยตรง เพียงแต่จะพัฒนาเกิดความเสี่ยงของสงครามลักษณะความไม่สงบ ความรุนแรง และการก่อการร้ายจะเกิดมากยิ่งขึ้น
...
แถมหากพัฒนาสงคราม “ก็มีผลต่อการผลิต และการส่งออกน้ำมันจากภูมิภาคนี้” ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่อาจกลับมาพร้อมกับมาตรการเข้มงวดทางการเงินในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำบางประเทศ แล้วคาดว่าราคาน้ำมัน และพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นทรงตัวระดับสูงต่อไป
ส่วนปัจจัยบวกเล็กน้อยจาก “มาซูด เปเซชเคียน ผู้นำอิหร่านคนใหม่” มีแนวโน้มเป็นมิตรกับชาติตะวันตก ราคาพลังงานสูงขึ้นจะถูกจำกัดโดยความวิตกกังวลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ต่อน้ำมันของจีน
ประเด็นจะส่งผลต่อ “ประเทศไทย” ด้วยมีการนำเข้าพลังงาน และน้ำมันจากตะวันออกกลางสัดส่วนมากกว่า 50-52% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมด แต่กลไกเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้นมีขีดจำกัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะลดลงกว่าระดับที่เป็นอยู่นี้มากก็ไม่ได้แล้ว
เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยง “ฐานะทางการคลัง” ในส่วนกองทุนน้ำมันนับแต่ต้นเดือน ต.ค. ติดลบ 6.5 หมื่นล้านบาท “ขณะนี้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว” ดังนั้นการมีนโยบายให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาเพิ่มมากขึ้นในระยะยาวอาจเริ่มมีขีดจำกัดมากขึ้นเช่นกัน
ด้วยกรณี “ประเทศไทย” ในต้นเดือน พ.ย.กองทุนน้ำมันจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นให้สถาบันการเงินที่กองทุนน้ำมันกู้มาเพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงในประเทศก้อนแรกกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่จ่ายแต่ดอกเบี้ยเฉลี่ย 150-200 ล้านบาท จากวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังชดเชยดีเซลที่ 40 สตางค์ต่อลิตรเฉลี่ยจ่ายวันละ 26.73 ล้านบาท หรือเดือนละ 829 ล้านบาท เพื่อตรึงขายปลีกดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ออกไป 3 เดือนจนถึง ต.ค.2567 “กลไกกองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุน” โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลใช้ในสัดส่วนกว่า 70 ล้านลิตร/วัน หรือเฉลี่ย 70% ของน้ำมันทั้งหมดในประเทศ
ดังนั้นกองทุนน้ำมันในประเทศ “ไม่อาจชดเชยแทรกแซงราคาได้เช่นเดิม” เพราะอาจเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องจากกองทุนติดลบเกินแสนล้านบาท และสาธารณชนจำเป็นต้องรับสภาพความเป็นจริงยอมรับการขยับเพดานราคาแทรกแซงน้ำมันสูงขึ้น และต้องมีการใช้น้ำมัน และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางควรลดการใช้พลังงานแล้วลงทุนเพิ่มงบประมาณอนุรักษ์ และลงทุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะช่วยลดการใช้พลังงานในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนแผนยุทธศาสตร์อนุรักษ์พลังงานระยะยาวปี 2558-2579 “รัฐบาล” ต้องทบทวนใหม่เพราะความขัดแย้งในตะวันออกกลางทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป
...
เช่นนี้ “ภาครัฐ” ต้องกำกับราคาเชื้อเพลิงภาคขนส่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องราคาพลังงาน และเปลี่ยนลักษณะการใช้พลังงานให้มีความเข้มข้นในการใช้เทียบกับจีดีพีลดลง และขอสนับสนุนนโยบายโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งขอสนับสนุนลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททั้งระบบตามที่ “กระทรวงคมนาคม” ได้เริ่มบางเส้นทางแต่ต้องทำให้เร็วขึ้นอีก และลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างจังหวัด เพราะเป็นพลังงานสะอาดราคาถูกช่วยสิ่งแวดล้อมดีขึ้น บรรเทาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี
ตอกย้ำ “อุทกภัยซ้ำเติมทางเศรษฐกิจ” เรื่องนี้จำเป็นต้องลงทุนระบบให้สามารถบริหารน้ำท่วม-น้ำแล้งให้ดีขึ้น เพราะประเทศไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงในช่วง มี.ค.-เม.ย.ของปีนี้แล้ว ยังเจอกับภาวะน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ในช่วงไตรมาส 3 อันเป็นการเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญสู่ลานีญา
เบื้องต้นประเมินมูลค่าเกษตร ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจเสียหาย 5.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของจีดีพี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.2-0.3% จากอุปทานลดลงฉับพลัน ดังนั้นการเผชิญภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมทุกปี “ความเสียหายย่อมมากขึ้น” หากไม่รีบลงทุนบริหารจัดการน้ำให้ดี อุทกภัยก็จะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม
...
เรื่องนี้ซ้ำเติม “ประชาชนประสบความยากลำบากขึ้นอีก” เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำสูง คนส่วนใหญ่มีส่วนแบ่งรายได้ มีส่วนแบ่งในทรัพย์สิน และความมั่งคั่งน้อยเกินไป “กลายเป็นสภาพรวยกระจุกจนกระจาย” ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับของโลกแม้นขณะนี้จะลดลงมาบ้างแล้วก็ตาม
สำหรับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนและบรรเทาภาระหนี้สินระยะสั้นจากเงินโอนดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเรื่องจำเป็นหลังเปิดลงทะเบียน 2 วันแรก “ผู้ลงทะเบียนทะลุ 21 ล้านคน” สะท้อนถึงประชาชนตอบรับนโยบายนี้
แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องแปลงเงินโอนให้เป็นการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในทุนมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและรายได้ จึงจะตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ฉะนั้นเวลานี้ “การสู้รบในตะวันออกกลาง” เป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ประเทศไทยควรลดการใช้พลังงาน เพิ่มกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน ประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม