รบ.ทหารพม่าพบกับความล้มเหลวอีกครั้ง พยายามเปิดประมูลขายบ้านของออง ซาน ซูจี ที่ย่างกุ้ง ครั้งที่สอง ไม่มีใครมาประมูลซื้อแม้แต่คนเดียวเหมือนเช่นเคย ขณะที่ราคาประมูล เริ่มต้นอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท
เมื่อ 16 สิงหาคม 2567 เว็บไซต์อิรวดี รายงาน รัฐบาลทหารของเมียนมา หรือพม่าต้องพบกับความล้มเหลวเป็นครั้งที่สอง ในความพยายามเปิดประมูลขายบ้านของออง ซาน ซูจี ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันพฤหัสฯที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีใครมาประมูลซื้อบ้านของนางซูจีแม้แต่คนเดียว
เจ้าหน้าที่ศาลพม่าได้ทำการเปิดประมูลขายบ้านของซูจี ซึ่งถือเป็นบ้านประวัติศาสตร์ของครอบครัวนางซูจี รวมถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองในประเทศพม่า ตั้งอยู่เลขที่ 54 บนถนนมหาวิทยาลัย ริมทะเลสาบอินยา ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเริ่มต้นเปิดประมูลขายในราคาเริ่มต้นที่ 315,000 ล้านจ๊าด หรือประมาณ 92 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 ล้านบาท) แต่ไม่มีใครมาประมูลซื้อแม้แต่คนเดียว
...
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ซึ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ ก.พ. 2564 ได้เริ่มเปิดประมูลขายบ้านของนางซูจี ครั้งแรก เมื่อ 20 มี.ค. 2567 และไม่มีใครมาประมูลซื้อบ้านของนางซูจี เจ้าของโนเบลสันติภาพแม้แต่คนเดียว
ทั้งนี้ ศาลพม่าได้สั่งประมูลขายบ้านของนางซูจี เมื่อเดือนมกราคม 2567 หลังจากนายอองซาน อู พี่ชายของนางซูจี ซึ่งห่างเหินกัน ได้ยื่นฟ้องขอแบ่งมรดกบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้นสไตล์โคโลเนียล มีพื้นที่ประมาณ 4.8 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2543 โดยแต่เดิมนั้น บ้านหลังนี้ เป็นบ้านของนางดอว์ขิ่น จี มารดาของนางซูจี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
นางซูจีได้อาศัยและเติบโตในบ้านหลังนี้ จนกระทั่งเมื่อปี 2531 ซูจียังได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (NLD) และนางซูจีได้ถูกรัฐบาลทหารสั่งกักตัวในบ้านหลังนี้ ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2553 รวมระยะเวลา 15 ปี
นอกจากนั้น ช่วงที่ประเทศพม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ได้มีประชาชนหลายพันคนมาชุมนุมที่บริเวณประตูบ้านหลังนี้ของนางซูจี เพื่อรับฟังคำปราศรัยจากนางซูจี เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการพูด อีกทั้ง เมื่อซูจีได้รับอิสรภาพแล้ว ซูจียังเปิดบ้านหลังนี้ ต้อนรับผู้นำระดับโลกหลายคน รวมทั้ง นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาเยี่ยมเยือนนางซูจีในปี 2554 และปี 2555
ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลพลเรือนของพม่า ซึ่งจัดตั้งขึ้นคู่ขนานกับรัฐบาลทหาร หลังพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ได้ประกาศเมื่อ ก.ย.2565 ให้บ้านหลังนี้ของซูจี เป็นสถานที่มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมเตือนว่าผู้ใดพยายามซื้อ ขาย ทำลาย ดัดแปลง หรือใช้บ้านหลังนี้ในด้านอื่นๆ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : Irrawaddy