สวีเดนรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 ซึ่งมีความอันตรายมากกว่า นอกทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก โดยยืนยันว่ายังไม่มีความเสี่ยงต่อสังคม
เมื่อ 15 ส.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขแห่งสวีเดน รายงานการพบผู้ติดเชื้อ “เอ็มพ็อกซ์” (Mpox) หรือชื่อเดิมคือ “ฝีดาษลิง” สายพันธุ์ Clade 1 ในประเทศเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าผู้ติดเชื้อ ติดโรคระหว่างอยู่ในแอฟริกา ซึ่งกำลังเกิดการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์นี้
น.ส.โอลิเวีย วิกเซลล์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขสวีเดนเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้เข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์ภายในกรุงสตอกโฮล์ม โดยเธอย้ำด้วยว่า การที่คนผู้นี้กำลังรับการรักษาในสวีเดนไม่ได้หมายความว่า มีความเสี่ยงต่อประชากรคนอื่นๆ
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เชื้อเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ Clade 1 ถูกตรวจพบนอกทวีปแอฟริกา โดยเชื้อตัวนี้มีความรุนแรงมากกว่าเชื้อสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งเคยระบาดทั่วโลกเมื่อปี 2565 จนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 87,000 คน เสียชีวิต 140 ศพ ขณะที่เชื้อ Clade 1 มีอัตราทำให้เสียชีวิตสูงถึง 10%
เชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ยังแตกต่างกันอีกอย่างคือ Clade 1 มักติดต่อผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิดภายในครัวเรือน และแพร่ไปสู่เด็กได้ง่ายกว่า ขณะที่เชื้อ Clade 2 แพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก
การเปิดเผยของสวีเดนยังเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของเชื้อเอ็มพ็อกซ์ในแอฟริกา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยหวังว่าการประกาศนี้จะกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดมากขึ้น
ทั้งนี้ หลายประเทศในแอฟริกากำลังเผชิญการระบาดอย่างหนัก เช่น บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เคนยา และรวันดา แต่ที่หนักที่สุดคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 13,700 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 450 ศพ นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2567 เป็นต้นมา
...
เชื้อ Clade 1 เริ่มกลายพันธุ์เมื่อเดือนกันยายน 2566 กำเนิดเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า Clade 1b และแพร่กระจายในแอฟริกาอย่างรวดเร็วจนถึงตอนนี้
ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป ระบุว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Clade 1 มักเริ่มแสดงอาการป่วยหลังจากผ่านไป 6-13 วัน โดยอาการที่พบบ่อยคือ ไข้ขึ้น ปวดศีรษะ, ผื่นหรือตุ่มแผลขึ้นตามตัว และปวดกล้ามเนื้อ โดยคนส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และจะหายดีในที่สุด แต่ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีความเสี่ยงสูงกว่า
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc