องค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อฝีดาษลิง ซึ่งกำลังระบาดอย่างรวดเร็วในแอฟริกาตอนนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว

เมื่อ 14 ส.ค. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อ เอ็มพ็อกซ์ (Mpox) หรือชื่อเดิมคือ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หลังมันแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและตะวันออก และนักวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงความกังวลถึงเชื้อสายพันธุ์ย่อย ที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีอัตราเสียชีวิตสูง

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดเพิ่มเติมภายในแอฟริกาหรือไกลกว่านั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง พร้อมระบุว่า การร่วมกันตอบสนองจากนานาชาติ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหยุดการระบาดนี้ และช่วยชีวิตผู้คน

ทั้งนี้ หลายประเทศในแอฟริกากำลังเผชิญการระบาดอย่างหนัก เช่น บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เคนยา และรวันดา แต่ที่หนักที่สุดคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 13,700 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 450 ศพ นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2567 เป็นต้นมา

เชื้อฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ และมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันเองได้ ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสผิวหนัง และการหายใจใกล้กัน โดยมีอาการทั่วไปคือ ทำให้มีไข้, ปวดกล้ามเนื้อ และมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย หากปล่อยเอาไว้ไม่รับการรักษา ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ในปัจจุบัน ฝีดาษลิงมีสายพันธุ์หลักอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ Clade 1 และ Clade 2

เชื้อ Clade 2 มีความรุนแรงน้อยกว่า และเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2565 จน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อทั้งยุโรป, ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ และอื่นๆ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 87,000 คน เสียชีวิต 140 ศพ โดยส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์

...

ส่วนเชื้อ Clade 1 มีความรุนแรงกว่ามาก และกลายเป็นโรคประจำถิ่นในภูมิภาคแอฟริกากลางไปแล้ว มีอัตราทำให้เสียชีวิตอยู่ที่ 10% และเชื้อตัวนี้เริ่มกลายพันธุ์เมื่อเดือนกันยายน 2566 กำเนิดเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า Clade 1b และแพร่กระจายในแอฟริกาอย่างรวดเร็วจนถึงตอนนี้

เมื่อวันอังคารที่ 13 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (ACDC) เพิ่งประกาศให้ เอ็มพ็อกซ์ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยหวังว่าจะเพิ่มความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในทวีป เพื่อรับมือกับการระบาด

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc