ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกระดูกต้นแขนมนุษย์โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส (Homo floresiensis) อายุราว 700,000 ปี ที่ค้นพบในถ้ำเหลียงบัวทางตะวันตกบนเกาะโฟลเรส อินโดนีเซีย เมื่อปี 2546 โดยนักโบราณคดี ชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้รับการไขความกระจ่างเพิ่มขึ้นในการศึกษาใหม่ นำโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ญี่ปุ่น ศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยาอินโดนีเซีย และมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ออสเตรเลีย
งานวิจัยใหม่เผยว่า ฟอสซิลกระดูกต้นแขนดังกล่าว ให้เบาะแสเกี่ยวกับวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพวก “ฮอบบิท” เนื่องจากรูปร่างเล็ก อาศัยอยู่บนเกาะห่างไกล และเป็นหนึ่งในสายพันธุ์เครือญาติโบราณของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ทีมวิจัยเผยว่าด้วยกระดูกต้นแขน มีความยาวเพียง 88 มิลลิเมตร เป็นของสายพันธุ์มนุษย์ที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยพบมา สนับสนุนแนวคิดที่ว่าบรรพบุรุษของโฮโม ฟลอเรซิเอนซิส วิวัฒนาการมาเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กลงมากเพียงไม่กี่พันปี หลังจากมาถึงเกาะโฟลเรส
...
ภาวะแคระแกร็นบนเกาะ เกิดจากกระบวน การที่สัตว์วิวัฒนาการจนมีขนาดร่างกายเล็กลง อันเป็นผลจากการถูกแยกตัวอยู่บนเกาะ ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดช่วงเวลาแห่งวิวัฒนาการ ทว่าก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบฟอสซิลโฮโม ฟลอเรซิเอนซิส ก็ไม่เคยมีใครคิดว่าภาวะแคระแกร็นบนเกาะจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่