อ่านหลายบทความที่เขียนกันในหลายประเทศ มักจะสับสนเรื่องการปฏิวัติรัสเซียเมื่อ ค.ศ.1917 ขอเรียนข้อเท็จจริงครับ ว่าการปฏิวัติใน ค.ศ.1917 มี 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่สองเมื่อเดือนตุลาคม แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการปฏิวัติ ค.ศ.1905 ต้องเข้าใจสภาพเหตุการณ์ในรัสเซียตอนนั้นก่อนครับ ว่าอำนาจทุกอย่างอยู่ที่พระเจ้าซาร์ ใครทำอะไรผิดบกพร่อง และไม่อยากให้คนตำหนิตนเอง ก็ส่งสัญญาณเป็นนัย ว่าพระเจ้าซาร์ทรงมีส่วนรู้เห็น การโยกย้ายตำแหน่งต่างๆก็มักจะอ้างพระเจ้าซาร์และซารีนา
สังคมรัสเซียตอนนั้นมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็เชิดชูสถาบันกษัตริย์ พวกที่นิยมกษัตริย์ก็ปกป้องสถาบันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจนค้านกับความเป็นจริงในสังคม ซึ่งสังคมรัสเซียสมัยทศวรรษ 1900 มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือขุนนางและนายทุน ปัญหาเรื่องชนชาติและปัญหาชนชั้นแรงงาน
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามเปิดเผยเรื่องความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จนในที่สุดช่วงเดือนธันวาคม 1904 มีการประท้วงหยุดงานที่โรงงานปูติลอฟ ผู้ผลิตรางรถไฟ และปืนใหญ่รายใหญ่ของรัสเซียที่อยู่ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (สมัยนั้นเป็นเมืองหลวงของรัสเซีย) แม้สมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย แต่ข่าวลือจากปากต่อปากทำให้คนเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมรัสเซียไม่น่าจะไปรอด เพราะความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจของผู้คนมีสูงมาก ทำให้การประท้วงบานปลาย จนมีการประท้วงในโรงงานต่างๆอีก 382 แห่ง มีกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้น 1.5 แสนคน
บาทหลวงศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ที่ชื่อว่า เกออร์กี อพอลโลโนวิช กาปอน นำกลุ่มคนงานไปพระราชวังฤดูหนาวเพื่อยื่นฎีกาต่อพระเจ้าซาร์ ประสงค์เพื่อให้เหตุการณ์สงบ แต่ทหารไม่เข้าใจ ยิงใส่ผู้ชุมนุมตายไปมากกว่าหนึ่งพันคน เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกเรียกว่าเป็นวันอาทิตย์นองเลือด สำหรับผม ผมคิดว่าประชาชนรัสเซียซึ่งในอดีตจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างถึงที่สุดก็เริ่มเอาใจออกห่าง
...
ทันทีที่เห็นกองอุจจาระแทนที่ฝ่ายรักสถาบันจะรีบเก็บอุจจาระใส่ถุงใช้หนังยางรัดปากถุง แล้วนำไปทิ้งถังขยะ แต่กลับปล่อยปละ ละเลยจนฝ่ายที่ไม่ชอบพระเจ้าซาร์นำอุจจาระก้อนนั้นไปโยนใส่พัดลม ใบพัดปั่นอุจจาระเหวี่ยงว่อนไปจนเลอะเปอะปะทั่วห้อง เช็ดถูกันไม่ไหว ข่าวคราวความอยุติธรรมที่อ้างว่าพระเจ้าซาร์และซารีนาทรงอยู่เหนือสุดของความยุติธรรมทำให้เกิดการประท้วงทั่วกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและนครมอสโก การประท้วงขยายไปอีกมากกว่า 200 โรงงาน
คนรัสเซียแต่เดิมฟังข่าวคราวด้านลบของพระเจ้าซาร์และซารีนาก็ยังไม่เชื่อ ต่อมาก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ต่อมามีบทความที่ย้ำเน้นถึงการรู้เห็นของพระเจ้าซาร์และซารีนาถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและขุนนางอย่างไม่ยุติธรรม ทรงลงมาแทรกแซงการตัดสินคดีความต่างๆ ทำให้การประท้วงบานปลาย มีคนออกมาประท้วงมากกว่า 2 ล้านคน การเดินทางโดยรถไฟทั้งหมดของรัสเซียกลายเป็นอัมพาต
แม้แต่ทหารเองก็รู้สึกว่าสังคมรัสเซียต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขืนอยู่อย่างนี้ต่อไปเสียหายตายแน่ พวกลูกเรือก็เริ่มไม่เอาด้วยกับระบบดั้งเดิม ลูกเรือบนเรือประจัญบานโปแตมกินจับพวกนายทหารเรือฆ่าทิ้ง และยึดเรือรบนำไปมอบให้รัฐบาลโรมาเนีย แลกกับการลี้ภัยทางการเมือง
รัฐบาลพระเจ้าซาร์ปราบทหารเรือรัสเซียที่แปรพักตร์อย่างโหดเหี้ยม ตายไปมากกว่า 2,000 นาย สถานการณ์ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ จนพระเจ้าซาร์รู้สึกว่า ต่อไปในอนาคตหากประชาชนยังต่อต้านพระองค์อยู่อย่างนี้ บ้านเมืองไม่น่าจะไปรอด
เดือนตุลาคม 1905 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงปล่อยคำแถลงการณ์เดือนตุลาคม โดยมีเนื้อหาว่า พระองค์จะยอมยกเลิกระบอบอัตตาธิปไตย ให้มีการตั้งสภาแห่งชาติ (ที่เรียกว่าสภาดูมา) มีการร่างรัฐธรรมนูญทำให้เกิดรัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับ ค.ศ.1906 แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่อีก 11 ปีถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ โอกาสหน้ามารับใช้ต่อครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม