เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมข่าวต่างประเทศไทยรัฐ ได้ร่วมทริปสื่อต่างประเทศตามคำเชิญของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ไปเยือนถิ่นกำเนิดกีฬาเทควันโด ได้เห็นว่าเทควันโดถูกพัฒนาต่อยอดและยกระดับอย่างน่าตื่นตะลึง ให้เป็นมากกว่ากีฬา แต่ยังเชื่อมโยงผู้คนในชาติและทั่วโลกเข้าหากัน
ทำไมศิลปะป้องกันตัว “เทควันโด” ถึงเป็นกีฬาที่ดึงดูดความสนใจของหลายคน เสน่ห์ที่ชัดเจนก็คือท่วงท่าการใช้มือและเท้าที่แข็งแกร่งแต่ดูอ่อนช้อย ซึ่งเกาหลีใต้นำเทควันโดปรากฏสู่สายตาชาวโลกอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิกฤดูร้อน กรุงโซล ปี 1988 (พ.ศ.2531) ในตอนที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ
ในปี 2548 “เทควันโด โปรโมชัน เฟาเดชัน” (Taekwondo Promotion Foundation-TPF) ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้ความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อแพร่วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเทควันโด มอบองค์ความรู้และการฝึกฝนให้กับประชาชน ทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านการเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับเทควันโดอย่างเต็มรูปแบบที่ “เทควันโดวอน” (Taekwondowon) ศูนย์ฝึกเทควันโดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรสุดทันสมัย ที่เมืองมูจู จังหวัดชอลลาเหนือ
ในโอกาสนี้ คุณอี จงกับ รักษาการประธาน TPF ได้บรรยายให้ฟังว่าเทควันโดถูกเล่าขานว่ามีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยซัมกุก (สามก๊ก) หรืออาณาจักรทั้ง 3 ของเกาหลี ได้แก่ โคกูรยอ แพ็กเจ และชิลลา โดยเผยแพร่ในระดับสากลครั้งแรกในยุคสงครามเวียดนาม โดยให้มุมมองส่วนตัวว่าจริง ๆ แล้ว พัฒนาการของเทควันโดนั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปะการต่อสู้แบบตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นและจีน แต่เทควันโดก็มี เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในเรื่องเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย ช่วยอบรมบ่มนิสัยไปในตัว เรียนรู้ได้ทุกเพศทุกวัย เหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้หลายครอบครัวในเกาหลีใต้มักส่งลูกหลานมาเรียนรู้กีฬาชนิดนี้นั่นเอง
...
ส่วนเรื่องราวของ “เทควันโดวอน” ผู้เขียนขอยกยอดไปคุยในตอนต่อไป.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม