- เชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีหญิงผู้ปกครองบังกลาเทศมานานร่วม 20 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่ง และหนีไปต่างประเทศ หลังเผชิญการประท้วงอย่างรุนแรงต่อเนื่องหลายสัปดาห์
- ฮาซีนา เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในฐานะไอคอนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พาบังกลาเทศออกจากการปกครองของทหาร และพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด
- แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของเธอค่อยๆ เปลี่ยนไปกลายเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจเผด็จการ กดขี่ฝ่ายตรงข้าม และถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน จนทำให้ความไม่พอใจของประชาชนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เชค ฮาซีนา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ ลาออกจากตำแหน่งและหลบหนีออกจากประเทศไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. 2567 หลังเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงของประชาชนระลอกใหญ่ ยุติการปกครอง 2 รอบระยะเวลารวมกว่า 20 ปีของเธอเอาไว้เพียงเท่านี้
การประท้วงดังกล่าวมีชนวนเหตุมาจากความไม่พอใจเรื่องการจำกัดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงรุนแรงนำโดยเหล่านักศึกษาเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์จนนางฮาซีนาต้องหลบหนี
ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจอย่างคาดไม่ถึงของนางฮาซีนา ผู้เริ่มต้นอาชีพนักการเมืองในฐานะไอคอนของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย จนไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจบาตรใหญ่ ปราบปรามใครก็ตามที่ต่อต้านการปกครองของเธอ การจับกุมทางการเมือง, การหายตัวไปอย่างลึกลับ, การฆ่าโดยไม่สนกฎหมาย และการข่มเหงอื่นๆ ล้วนเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเดือนมกราคม นางฮาซีนาชนะการเลือกตั้งได้ครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบอยคอตจากฝ่ายค้าน และถูกมองอย่างกว้างขวางว่าไม่เสรีและไม่เป็นธรรม
อะไรเป็นสาเหตุทำให้นางฮาซีนา แปรเปลี่ยนจากไอคอนเพื่อประชาธิปไตย กลายเป็นมาจอมเผด็จการจนโดนผู้คนขับไล่ในทุกวันนี้ คงต้องกลับไปย้อนดูว่า จุดเริ่มต้นทางการเมืองและเส้นทางที่เธอเดินผ่านมานั้น เป็นอย่างไร
...
เริ่มต้นจากโศกนาฏกรรม
ฮาซีนาเกิดที่รัฐเบงกอลตะวันออก ในปี 2490 และมีสายเลือดนักการเมืองอยู่เต็มตัว เนื่องจากบิดาของเธอคือ เชค มูจิบูร์ เราะห์มาน บิดาแห่งบังกลาเทศผู้ปลดปล่อยชาติเป็นอิสระจากปากีสถานในปี 2514 และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
ในตอนนั้น ฮาซีนาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกรุงธากาแล้ว ก่อนจะเกิดการรัฐประหารของกองทัพในปี 2518 ซึ่งทำให้ เชค มูจิบูร์ เราะห์มาน ถูกลอบสังหารพร้อมกับสมาชิกครอบครัวเกือบทั้งหมด
ในคืนวันเกิดเหตุนั้น ฮาซีนาในวัย 28 ปี อยู่ที่เยอรมนีกับน้องสาวของเธอ ขณะที่ทหารบุกไปที่บ้านของครอบครัวเธอในกรุงธากา และสังหารพ่อแม่ กับพี่น้องคนอื่นอีก 3 คน กับคนงานในบ้านทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 18 ศพ
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า โศกนาฏกรรมครั้งนั้นผลักดันให้เธอรวมศูนย์อำนาจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นแรงบันดาลใจในการเดินบนเส้นทางอาชีพนักการเมืองของเธอ
“ฮาซีนาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีคุณสมบัติในฐานะนักการเมืองที่ทรงพลังอย่างมาก และนั่นคือการใช้แผลใจเป็นอาวุธ” อวินาช พาลิวัล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญเรื่องยุทธศาสตร์เอเชียใต้ กล่าวก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม
กลายเป็นไอคอนประชาธิปไตย
หลังการลอบสังหาร ฮาซีนาต้องใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียนานหลายปี ก่อนจะกลับมาประเทศบ้านเกิดในปี 2544 และกลายเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตรอวามี (Awami League) ที่พ่อของเธอเคยสังกัดอยู่
ฮาซีนาจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ จัดการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยตามท้องถนน ต่อต้านการปกป้องของทหาร ซึ่งตอนนั้นนำโดย พลเอกฮุสเซน มูฮัมเหม็ด เออร์ชาด ทำให้เธอต้องถูกกักบริเวณในบ้านหลายต่อหลายครั้ง ตลอดช่วงทศวรรษที่ 80 คล้ายกับกรณีของนางอองซาน ซูจี จนเธอกลายเป็นไอคอนของชาติ
กระทั่งในปี 2539 ฮาซีนาชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก สร้างผลงานด้วยการทำข้อตกลงแบ่งปันน้ำกับอินเดีย และข้อตกลงสันติภาพกับชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ในบังกลาเทศ
...
ศึกชิงอำนาจ 2 นายกฯ หญิง
รัฐบาลของฮาซีนาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกว่าทำข้อตกลงทุจริตมากมาย และเอาใจอินเดียมากเกินไป จนพรรคของเธอพ่ายแพ้ให้แก่พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (BNP) ในการเลือกตั้งปี 2544 และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ การชิงอำนาจกันระหว่างนางฮาซีนา กับ คาเลดา เซีย หัวหน้าพรรค BNP ซึ่งจะดำเนินไปนานนับสิบปี
ความเป็นคู่แข่งของทั้งสองคนทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองในบังกลาเทศ ฮาซีนามักกล่าวหาพรรค BNP ว่ามักใช้วิธีการสุดโต่ง ในขณะที่พรรคของเธอ ซึ่งนิยามตัวเองว่ากลุ่มสายกลาง พยายามจะหยุดยั้ง ขณะที่พรรค BNP ของเซียกล่าวหาสันนิบาตอวามีว่า ใช้วิธีกดขี่เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้
บางครั้งการโจมตีก็ไม่จบแค่คำพูด เหตุระเบิดคาร์บอมบ์, การอุ้มหาย และการฆ่าโดยไม่สนกฎหมาย กลับกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในบังกลาเทศ
ในการประท้วงระลอกล่าสุด ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังกล่าวโทษกันไปมา โดย BNP ซึ่งสนับสนุนการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา เรียกร้องให้ฮาซีนาลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีหญิง กล่าวหา BNP ว่าโหมกระพือให้เกิดความรุนแรง และเข้าครอบงำการประท้วงร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ที่ถูกรัฐบาลแบนไปก่อนหน้านี้
...
เหรียญมี 2 ด้าน
ในช่วงที่เธอเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ฮาซีนาถูกจับกุมตัวอยู่เนืองๆ และรอดชีวิตจากการลอบสังหารหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2547 ซึ่งทำให้การได้ยินของเธอมีปัญหา เธอยังรอดจากความพยายามบังคับเนรเทศ และคดีความในศาลมากมาย ซึ่งเธอถูกกล่าวหาในคดีคอร์รัปชัน
ฮาซีนากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2552 และเธอก็ตั้งเป้าในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบังกลาเทศ เช่นการเชื่อมระบบไฟฟ้าแรงสูงให้เข้าถึงหมู่บ้านห่างไกล, โครงการสร้างถนนหลวง, ทางรถไฟ และท่าเรือ ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศก็กลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลก
การพัฒนาที่เกิดขึ้นจุดประกายให้เกิดการขับเคลื่อนอื่นๆ เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาเทียบเท่าผู้ชาย จำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงานก็เพิ่มสูงขึ้น
ในระดับนานาชาติ ฮาซีนาบ่มเพาะความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจต่างๆ รวมถึง อินเดียกับจีน แต่สหรัฐฯ กับชาติตะวันตกอื่นๆ แสดงความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายไม่สู้ดีมาจนถึงทุกวันนี้
ฮาซีนาเปลี่ยนบังกลาเทศที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก ให้กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค แซงหน้ากระทั่งอินเดีย รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น 3 เท่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า มีคนกว่า 25 ล้านหลุดพ้นจากฐานะยากจนในช่วง 20 ปีนี้
แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บังกลาเทศต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูง อัตราเงินเฟ้อพุ่งจนถึง 9.5% ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ลดลงเหลือต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หนี้ต่างประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวนับจากปี 2559
นักวิเคราะห์มองว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศ แลกมาด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวหารัฐบาลของฮาซีนาว่า ใช้วิธีการรุนแรงในการปิดปากผู้เห็นต่าง ลดทอนเสรีภาพสื่อ และจำกัดองค์กรภาคประชาสังคม ขณะที่กลุ่มสิทธิอ้างว่า เกิดกรณีการบังคับอุ้มหายหลายครั้งในช่วงการปกครองของฮาซีนา แต่รัฐบาลของเธอปฏิเสธ
...
ความไม่พอใจที่ล้นทะลัก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวบังกลาเทศเริ่มออกมาชุมนุมประท้วงบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กอปรกับการระบาดของโควิด-19 และการที่รัฐบาลของนางฮาซีนาเลือกใช้ไม้แข็งในการปราบปรามการประท้วงทุกครั้งไปนั้น ทำให้ความตึงเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ชัยชนะอย่างน่ากังขาครั้งล่าสุดของนางฮาซีนาในการเลือกตั้งเดือนมกราคม ยิ่งทำให้ความเดือดดาลในสังคมเพิ่มสูงขึ้น แต่ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ลาออก นางฮาซีนายังคงยืนกรานจะอยู่ในตำแหน่ง พร้อมประณามผู้ยุยงปลุกปั่นว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และเรียกร้องขอการสนับสนุนเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้อย่างเด็ดขาด
แต่การประท้วงครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มจากความไม่พอใจเรื่องการจำกัดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนทนกับปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้อีกต่อไป คนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ต้องการหน้าที่การงานที่มั่นคงและผลตอบแทนดีอย่างงานในภาครัฐ แต่โอกาสของพวกเขากลับถูกจำกัดไว้
การประท้วงดังกล่าวเผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงตามความคาดหมาย แต่คราวนี้ ความตึงเครียดที่สะสมเอาไว้มานานนั้นพุ่งถึงขีดสุด จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงที่สุด และต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในบังกลาเทศมาก่อน มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 300 ศพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็บาดเจ็บจำนวนมาก
จบที่ลาออก และหนีไปอินเดีย
ในที่สุด นางฮาซีนาก็ตัดสินใจยอมแพ้ เธอนั่งเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพออกจากทำเนียบนายกรัฐมนตรีไปกับน้องสาวของเธอ จากนั้นไม่นาน พลเอกเวคเกอร์ อุซ ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพก็ประกาศเรื่องการลาออกจากตำแหน่งของนางฮาซีนา และว่าเขากำลังหารือกับประธานาธิบดี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว
ข่าวรายงานว่า นางฮาซีนาเดินทางไปขอลี้ภัยที่ประเทศอินเดีย ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนต่างพากันเฉลิมฉลองบนท้องถนน บางคนบุกเข้าไปในทำเนียบและปล้นชิงสิ่งของภายใน แม้แต่ปลาในครัวก็ไม่เว้น
ด้านนายพลซามานให้คำมั่นว่า จะมีการสืบสวนเพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการประท้วง และขอให้เหล่านักศึกษาอยู่ในความสงบ ด้านประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ก็ออกคำสั่งปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรี คาเลดา เซีย ที่ถูกกักบริเวณ และนักศึกษาทุกคนที่ถูกจับกุมตัวระหว่างการประท้วงทุกคนแล้ว
ศ.นาโอมิ ฮอสเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการบังกลาเทศจากมหาวิทยาลัย SOAS ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า นี่คือจุดจบของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการพัฒนามากมายแก่ประเทศ แต่แลกมาด้วยการใช้อำนาจเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการสังหารผู้ประท้วงหลายร้อยคนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่การจากไปของฮาซีนาทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองขนาดใหญ่ขึ้นในบังกลาเทศ ซึ่งหลังจากนี้ พวกเขาจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร จะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : apnews, bbc