ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินให้กูเกิลแพ้คดีต่อต้านการผูกขาด กรณีจ่ายเงินมหาศาลให้เสิร์ชเอนจินของตัวเอง เป็นบริการค้นหาหลักในอุปกรณ์และเว็บเบราว์เซอร์ต่างๆ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ มีคำตัดสินในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. 2567 ว่า ธุรกิจเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ของกูเกิล (Google) ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของบริษัทไอทีชื่อดังเจ้านี้ ซึ่งอาจพลิกโฉมการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของชาวอเมริกันนับล้านคน

“หลังจากพิจารณาอย่างระมัดระวัง และชั่งน้ำหนักคำให้การของพยานและหลักฐาน ศาลจึงมีข้อสรุปดังนี้ กูเกิลเป็นผู้ผูกขาด และพวกเขามีพฤติกรรมเป็นผู้รักษาการผูกขาดของตัวเองเอาไว้” อามิต เมห์ตา ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ “พวกเขาละเมิดมาตราที่ 2 ของกฎหมายเชอร์แมน”

การตัดสินใจของผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นการโจมตีธุรกิจที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของกูเกิลอย่างบริการเสิร์ชเอนจิน โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้บริษัทเทคโนโลยี เพื่อทำสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟ ให้กูเกิลเป็นเป็นบริการค้นหาเริ่มต้นบนสมาร์ทโฟนและเว็บเบราว์เซอร์ต่างๆ

สัญญาเหล่านั้นทำให้กูเกิลสามารถกันบริการค้นหาที่อาจเป็นคู่แข่งอย่าง “บิง” (Bing) และ “ดั๊กดั๊กโก” (DuckDuckGo) ของไมโครซอฟท์ออกไปได้

ผู้พิพากษาเมห์ตาระบุว่า การอยู่ในสถานะที่ทรงอำนาจซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันเช่นนี้ ต้องหยุดลง โดยเฉพาะข้อตกลงจำเพาะกับบริษัท แอปเปิล (Apple) กับผู้เล่นรายสำคัญอื่นๆ ในตลาดโทรศัพท์มือถือ นอกจากนั้น กูเกิลยังเก็บค่าโฆษณาบนเสิร์ชเอนจินในราคาสูง ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจการผูกขาดของพวกเขาในบริการค้นหาด้วย

...

ถึงแม้ว่าศาลจะไม่พบว่ากูเกิลผูกขาดโฆษณาบนเสิร์ชเอนจิน แต่คดีนี้ถือเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดที่ใหญ่ที่สุดที่ฟ้องร้องโดยรัฐบาลสหรัฐฯ นับตั้งแต่การฟ้องร้องบริษัทไมโครซอฟท์ในช่วงเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 กรณีที่พวกเขานำเว็บเบราว์เซอร์ Internet Explorer ไปรวมอยู่กับระบบปฏิบัติการ Windows เพื่อหวังกีดกันคู่แข่ง

และนี่ยังนับเป็นการแพ้คดีต่อต้านการผูกขาดคดีที่ 2 ของกูเกิล หลังจากเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน คณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางในแคลิฟอร์เนีย ตัดสินว่า กูเกิลกระทำการผูกขาดอย่างผิดกฎหมายด้วยบริการแอปสโตร์ของพวกเขา แต่ศาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาวิธีแก้ไขให้ถูกต้อง

ทั้งนี้คาดกันว่า คำตัดสินของผู้พิพากษาเมห์ตา จะทำให้เกิดกระบวนการแยกต่างหาก เพื่อตัดสินบทลงโทษที่กูเกิลจะต้องเผชิญ ซึ่งแน่นอนว่าว่าหลังจากนั้นกูเกิลจะยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านคำตัดสิน

แต่ในท้ายที่สุดคำตัดสินนี้อาจเปลี่ยนแปลงวิธีที่กูเกิลให้บริการเสิร์ชเอนจินแก่ผู้ใช้งาน และจะกระทบต่อความสามารถในการทำข้อตกลงราคาแพงกับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ให้บริการออนไลน์เจ้าต่างๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญในคดีนี้

กูเกิลอาจจะถูกปรับเงินด้วย แต่โทษปรับไม่ใช่วิธีลงโทษหลักในระบบกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ เพราะจำนวนเงินที่ปรับมักเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อยสำหรับบริษัทที่มีกำไรมหาศาลอย่างกูเกิล

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn