“ชีค ฮาสินา” นายกฯหญิงบังกลาเทศ ไขก๊อกบินหนีไปอินเดียพร้อมน้องสาว หลังความรุนแรง จากการประท้วงระหว่างนักศึกษากับฝ่ายความมั่นคงยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยชนวนความขัดแย้งเริ่มจากการกำหนดโควตารับสมัครข้าราชการถูกล็อกไว้ 30% ให้กับลูกหลานทหารผ่านศึก ขณะที่กองทัพยังหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ปล่อยให้นักศึกษาฟัดกับตำรวจจนมีคนตายถึง 91 ศพ โดย 14 ศพ เป็นฝั่งตำรวจ ด้านผู้นำทหารออกโทรทัศน์แถลงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวพร้อมเข้าพบประธานาธิบดีมั่นใจแก้ไขปัญหาได้ในคืนนี้
จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศบังกลาเทศ จากการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มนักศึกษาที่ลุกลามเป็นการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ ในวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดนายกฯหญิงทนกดดันไม่ไหว บินออกนอกประเทศพร้อมลาออกจากตำแหน่งแล้ว สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่า แกนนำนักศึกษายังคงเรียกร้องให้นักศึกษาลงสู่ท้องถนนกรุงธากา กดดันให้นางชีค ฮาสินา นายก รัฐมนตรีบังกลาเทศ ลาออกจากตำแหน่ง และแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนนับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ การประท้วงในบังกลาเทศเริ่มจากความไม่พอใจในรัฐบาลที่กำหนดโควตารับสมัครข้าราชการ แบ่งเป็นคนทั่วไป 70% ส่วนอีก 30% ล็อกไว้สำหรับลูกหลานทหารผ่านศึกที่ร่วมต่อสู้ในสงครามเอกราชบังกลาเทศปี 2514 ต่อมาศาลฎีกาได้ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ให้โควตาเปลี่ยนเป็นคนทั่วไป 93% และลูกหลานทหารผ่านศึก 5% อย่างไรก็ตาม แกนนำนักศึกษาได้เรียกร้องรัฐบาลเพิ่มเติมให้นางฮาสินาออกแถลงการณ์ขออภัยต่อประชาชน และรับปากว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมจะได้รับความยุติธรรมอย่างเหมาะสม ผลปรากฏว่าเสียงเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองใดๆจากนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มนักศึกษาเดินหน้าชุมนุมต่อไป พร้อมยกระดับข้อเรียกร้องให้นางฮาสินาลาออกจากตำแหน่งผู้นำ
...
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.ส่งผลให้รัฐบาลบังกลาเทศประกาศบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในยามวิกาล ระงับระบบขนส่งสาธารณะ ระงับการทำงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันที่ 4 ส.ค.และไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่ารัฐบาลจะเห็นว่าเหมาะสม พร้อมประกาศให้ช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. เป็นวันหยุดราชการ
ขณะที่กองทัพบังกลาเทศออกแถลงการณ์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายบังกลาเทศ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการเคอร์ฟิว โดยสื่อเอเอฟพีระบุด้วยว่า ช่วงการประท้วงวันที่ 4 ส.ค. เจ้าหน้าที่กองทัพได้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ยืนดูการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง
ส่วนสำนักข่าวการ์เดียนอังกฤษรายงานว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีฮาสินา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานกว่า 20 ปี และเพิ่งชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำสมัยที่ 4 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนยอดผู้เสียชีวิต 91 ศพ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมอยู่ด้วย 14 ศพ ถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงของบังกลาเทศ และแซงหน้ายอดผู้เสียชีวิต 67 ศพ ในการชุมนุมประท้วงต่อต้านระบบโควตาข้าราชการเมื่อวันที่ 19 ก.ค.
ต่อมาสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า นางฮาสินาเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานว่า นางฮาสินา และนางชีค รีฮานา น้องสาว เดินทางออกจากกรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ มุ่งหน้าสู่เมืองอัครตละ รัฐตริปุระ ประเทศอินเดีย โดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น นิวส์ 18 ของอินเดียรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลอินเดียเตรียมพร้อมรับนางฮาสินาเข้ามาในประเทศอย่างปลอดภัย และยืนยันในเวลาต่อมาว่า นางฮาสินา อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เดินทางถึงเมืองอัครตละอย่างปลอดภัยแล้ว
ขณะเดียวกัน พล.อ.เวเกอร์ อัส ซามัน ผู้บัญชา การกองทัพบังกลาเทศ ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ต่อสาธารณชนว่า จะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น และเข้าพบนายโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ประธานาธิบดีบังกลาเทศ เพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าวพร้อมหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในคืนนี้ อีกทั้งระบุว่าได้พูดคุยกับพรรคฝ่ายค้านแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมนับพันคนมุ่งหน้าไปยังบ้านพักนายกรัฐมนตรีในกรุงธากา บุกเข้าทำลายทรัพย์สินต่างๆในบ้าน มีผู้ประท้วงบางส่วนถือเก้าอี้ และยกโซฟาออกมาภายนอกตัวอาคาร ขณะที่ผู้ประท้วงบางกลุ่มไปรวมตัวทำลายรูปปั้น นายชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน อดีตประธานาธิบดีบังกลาเทศ บิดานางฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ทั้งปีนขึ้นไปบนไหล่ของรูปปั้นและยืนใช้ค้อนทุบบริเวณศีรษะ มีเสียงโห่ร้องจากฝูงชนจำนวนมากอยู่ด้านล่าง ด้านพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์รำลึกนายเราะห์มานก็ยังมีผู้ชุมนุมเข้าไปจุดเพลิงเผาทำลายสถานที่เช่นกัน
ทั้งนี้ หลังฝูงชนทราบข่าวการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางฮาสินา และลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังอินเดีย ซึ่งมีอาณาเขตติดกับทางตะวันตกของบังกลาเทศ นักศึกษาประชาชนบนถนนในกรุงธากาต่างโห่ร้อง โบกธงชาติไปมา มีบางส่วนขึ้นไปยืนเต้นบนหลังคาของรถถังที่จอดอยู่บนถนน อย่างไรก็ตาม การบุกทำลายทรัพย์สินสถานที่ราชการยังดำเนินต่อไป ส่วนสำนักข่าวฮินดูสถานของอินเดียรายงานในเวลาต่อมาว่า เฮลิคอปเตอร์ที่พานางฮาสินา อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเดินทางออกจากประเทศ ได้ลงจากที่ฐานทัพอากาศฮินดัน ในรัฐอุตตรประเทศ และจะเดินทางไปหลบที่บ้านพักในกรุงนิวเดลี
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่