พายุใหญ่ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งในภูมิภาค ตะวันออกกลาง หลังกระทรวงกลาโหมเพนตากอนสหรัฐฯ ประกาศการเคลื่อนกำลังขนาดใหญ่ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยคุ้มครอง “อิสราเอล” จากการโจมตีแบบรายล้อมรอบทิศ ของเครือข่ายความมั่นคงที่เป็นแนวร่วมหรืออยู่ภายใต้บัญชาการของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งชาติ “อิหร่าน” อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์วางระเบิดลอบสังหาร “อิสมาอิล ฮานิเยห์” ผู้นำฝ่ายการเมืองกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ “กลุ่มฮามาส” ระหว่างเดินทางร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดี คนใหม่ของอิหร่าน ในกรุงเตหะราน
หยามหน้ารัฐบาลอิหร่านที่กำลังให้การต้อนรับ “แขกบ้านแขกเมือง”
แม้งานนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการเด็ดหัวแกนนำฮามาส แต่อิสราเอลกับอิหร่านต่างมีความขัดแย้งระหว่างกันมายาวนานหลายทศวรรษ จนทำให้แต่ละฝ่ายเชื่ออย่างสนิทใจเวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง เหมือนกับกรณีนี้ที่อิหร่านประกาศหมายหัวทันทีว่า “เป็นฝีมืออิสราเอล”
หนทางเดินต่อดูเหมือนจะเหลือช่องทางแค่ว่า จะตัดสินใจกดปุ่มไฟเขียวเปิดฉากการโจมตีเมื่อใด และจะโจมตีแบบไหน รูปการณ์จะเหมือนกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.หรือไม่ ที่กองทัพอิหร่านและกองกำลังในสังกัด เปิดฉากถล่มอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ จรวดร่อน และโดรนพิฆาตกว่า 300 ลำ
ในครั้งนั้น กองทัพอิสราเอลและกองทัพอากาศสหรัฐฯประสบความสำเร็จในการคุ้มครองน่านฟ้าอิสราเอลจากฝูงโดรนพิฆาต แต่นั่นก็เป็นเพราะมีเวลาให้ตั้งตัวสักพักใหญ่ เนื่องจากฝูงโดรนใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการบินลัดฟ้าเพื่อเข้าสู่น่านฟ้าอิสราเอล
ส่วนเรื่องการป้องกันขีปนาวุธถือว่ายังมีช่องโหว่ เพราะสุดท้ายก็มีขีปนาวุธอิหร่านบางส่วน เล็ดลอดการสกัดกั้นและยิงถูกฐานทัพอากาศของอิสราเอลอยู่ดี
...
จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในครั้งนี้ สุดท้ายจะลงเอยเช่นไร เพราะเมื่อเดือน ก.ค. ศัตรูของอิสราเอลได้แสดงให้เห็นพัฒนาการอย่างน่าตกใจ ส่งโดรนพิฆาตตัวใหม่ฝ่าระบบป้องกันภัยทางอากาศเข้ามาถล่มย่านสถานทูตในนคร “เทลอาวีฟ” และนี่เป็นเหตุผลหรือไม่ว่า นอกจากกองเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว สหรัฐฯยังส่งฝูงบินทั้งจากอังกฤษและอิตาลี เข้ามาเสริมแนวรบตะวันออกกลางเพิ่มเติม.
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม