แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ยังอธิบายถึงโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลีย หรือ MAP ในส่วนของความร่วมมือต้านอาชญากรรม ข้ามชาติว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพรมแดน และส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในลุ่มน้ำโขง คาดว่าการค้ามนุษย์และขนส่งสินค้าที่ผิดกฎหมายในอาเซียนมีมูลค่า 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.68 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งออสเตรเลียให้เงินทุนกว่า 30 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (735.6 ล้านบาท) ช่วยประเทศลุ่มน้ำโขงต้านอาชญากรรมและเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน
โครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลียเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (MAP-TNC) ตั้งเป้าขจัดภัยคุกคามร้ายแรง เช่น การค้ายาเสพติด การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และอาชญากรรมด้านการเงิน โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านการพัฒนาการเก็บรวบรวมหลักฐาน การพัฒนานโยบาย และการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศลุ่มน้ำโขง เพราะอาชญากรรมข้ามชาติบ่อนทำลายความมั่นคงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ความร่วมมือ ระหว่างเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันภัยที่กล่าวมานี้ และความร่วมมือระหว่างพรมแดนประเทศลุ่มน้ำโขงคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ
ออสเตรเลียภูมิใจที่ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (CTIP-COE) ไปเมื่อเดือน พ.ค.2567 ถือเป็น ศูนย์อบรมเฉพาะด้านแห่งแรกในภูมิภาค ตั้งเป้า พัฒนาความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็นต่างๆ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับไทยเป็นกลไกสำคัญให้เกิดความคืบหน้าที่เราร่วมกันสร้างมาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษปีนี้ ออสเตรเลียได้ประกาศเงินลงทุนเพิ่มเติมโครงการ MAP 222.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5,460 ล้านบาท) ในระยะที่สองของโครงการจะมุ่งสานต่อการพัฒนาความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
...
อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญต่อออสเตรเลีย ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและไทยได้ดำเนินมาเป็นเวลา 72 ปีแล้ว สายสัมพันธ์ที่เราสร้างกันมาช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆด้วยกัน เราจะเดินหน้าทำงานกับไทยและภาคีต่างๆในท้องถิ่นเพื่อกำหนดทิศทางและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและรุ่งเรืองระหว่างเรา.
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม