ในขณะที่ตัวแทนนานาชาติไปร่วมประชุมอาเซียนที่เมืองฝั่งโขง สปป.ลาวนั้น ทาง “แอนเจลา แมคโดนัลด์” เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ฝากสารมายังหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลียใจความว่า โครงการ Mekong-Australia Partnership หรือ MAP ได้ถูกริเริ่มในปี 2563 เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เรามีร่วมกันในอนุภูมิภาคนี้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนต่างๆในไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ปัญหาเหล่านี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงภัยแล้งและน้ำท่วมที่ได้ทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น สภาวะขาดแคลนน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน และอาชญากรรมข้ามชาติที่เสี่ยงลดทอนหลักนิติธรรม

ความร่วมมือกันในระยะยาวจึงจำเป็นต่อ การแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนเหล่านี้เพื่อผู้คนกว่า 240 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งออสเตรเลียได้ทุ่มเงินจำนวน 232 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5,690 ล้านบาท) ให้กับโครงการ MAP ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้เสาหลัก 5 ประการร่วมกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจ ด้านน้ำ พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ด้านศักยภาพมนุษย์ ด้านไซเบอร์ และด้านการค้าและการลงทุน

ในประเทศไทยเอง ผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลีย ได้ช่วยให้คนในท้องที่พัฒนาการผสมพันธุ์และการย้ายถิ่นของปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียยังได้ช่วยชุมชนท้องถิ่นเฝ้าระวังสุขภาพแม่น้ำ พร้อมสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ให้สานต่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเฝ้าสังเกตการณ์และสื่อสารข้อมูลด้านสภาวการณ์ของลุ่มน้ำ การจัดการให้มีการเข้าถึงทรัพยากรแม่น้ำอย่างเท่าเทียมจะช่วยสานต่อผลประโยชน์ให้กับคนรุ่นถัดไป

...

ความยั่งยืนและความรุ่งเรืองของภูมิภาคขึ้นอยู่กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเช่นกัน ดังนั้นออสเตรเลียจึงมีการมอบทุนเข้าร่วมอบรมระยะสั้นกว่า 1,000 คน มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และการฝึกอบรมเฉพาะด้านรวม 47 ทุนแก่เหล่าผู้นำรุ่นต่อไป เพื่อเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลีย เรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จรรยาบรรณและความเป็นเลิศในการบริหารงานภาครัฐ และแนวทางการดึงดูดการลงทุนโดยตรงที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ

ส่วนเรื่องการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ออสเตรเลียยังมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับชาติลุ่มน้ำโขงด้วยเช่นกัน แต่ขอไว้อธิบายกันในตอนหน้า วันนี้เนื้อที่หมดแล้วครับ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม