ขณะเขียนต้นฉบับของวันนี้ ผมอยู่ที่กุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซี เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2024 ผมตระเวนบราซิล ฮ่องกง และจีน ประหลาดใจที่สุดก็คือการใช้จ่ายเงินของคนจีนเปลี่ยนไปจากเดิมมากไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นก็เปลี่ยน

ตอนที่ผมลงหลักปักฐานที่กุ้ยหลินเมื่อ 15 ปีที่แล้ว สมัยนั้นเป็นช่วงที่คนจีนใช้เงินกันอย่างเต็มที่ ชอบแบรนด์เนม นิยมสินค้าต่างชาติ ทานอาหารในภัตตาคารหรูหราหมาเห่า แข่งขันกันเรื่องรถ เรื่องไปเที่ยวต่างประเทศ อวดรวยกันตามโซเชียลมีเดีย คนไหนรวยคนนั้นก็มีคนติดตามมาก

3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างหนึ่งซึ่งกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารของพวกเราอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ คนจีนไม่สั่งอาหารเต็มโต๊ะเหมือนเดิม ผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คนจำนวนไม่น้อยนิยมสั่งอาหารจานเดียวและทานจนหมดจาน ถึงคราวจ่ายก็นิยมจ่ายแบบของตัวใครตัวมัน

นอกจากนั้น ยังนิยมไปนั่งที่ร้านกาแฟที่ให้บริการอาหารจานเดียวและขนมด้วย ต่างคนต่างจ่าย พฤติกรรมการพบปะสังสรรค์ของคนจีนเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ภัตตาคารในประเทศจีนซึ่งเป็นธุรกิจเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ปิดตัวกันระนาว

อย่างร้านหม้อไฟชื่อดังที่มีสาขามากถึง 1,597 แห่ง หลังจากพฤติกรรมคนจีนเปลี่ยน ก็ทยอยปิดสาขาที่ละ 200-300 แห่ง ตั้งแต่ปลาย ค.ศ.2021 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เกิดกระแสการออมอย่างบ้าคลั่งในหมู่วัยรุ่นจีน เรียกกระแสนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Revenge Saving สมัยก่อนเด็กจีนอวดรวย แต่สมัยนี้เด็กจีนอวดจน เดิมที่เคยโพสต์เรื่องเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของแบรนด์เนม เด็กจีนปัจจุบันโพสต์เรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างไรให้น้อยที่สุด บางคนโพสต์ว่าตนเองใช้เงินเพียงเดือนละ 41.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,444 บาท จ่ายเป็นค่าอาหารเพียง 1.38 ดอลลาร์ หรือ 48 บาทต่อวัน

...

กระแส Revenge Saving มีทั้งแง่บวกและมุมลบ แง่บวกก็คือเยาวชนคนจีนมีเงินออมมากขึ้น ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ได้ดุลมโหฬาร เฉพาะเดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ยอดการเกินดุลการค้าของจีนเพิ่มสูงถึง 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3.583 ล้านล้านบาท

แต่ในแง่เสียก็คือเงินไม่ไหลเวียน ใครได้เงินมาแล้วก็เก็บ ไม่นำออกมาใช้จ่าย ไม่นำออกมาลงทุน เรื่องนี้อันตราย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องออกมากระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ธนาคารแห่งชาติจีนหรือ Bank of China ออกมาให้ข้อมูลว่า ในไตรมาสแรกของ ค.ศ.2024 เงินฝากเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.8 จากไตรมาสแรกของ ค.ศ.2023

2 ปีที่แล้ว ภัตตาคารหรูหราหมาเห่าประเภท fine dining ซึ่งมักจะอยู่บนชั้น 6-7 ของอาคารสำนักงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ต่างสงสัยว่า ลูกค้าที่เคยเต็มร้านหายไปไหนหมด พบว่าไปกินร้านอาหารชั้นใต้ดินซึ่งขายอาหารราคาถูกสำหรับพนักงาน เป็นเทรนด์ที่โซเชียลมีเดียเรียกว่าเศรษฐกิจ B1 B2 และเกิดแฮชแท็ก #YoungPeopleOnlyGoShoppingAtB1B2 ซึ่งหมายถึงคนหนุ่มสาวซื้อของที่ชั้นใต้ดิน (B1 หรือ B2) เท่านั้น

ช่วงวิกฤติโควิด-19 คนในหลายประเทศไม่ได้ออกไปซื้อข้าวซื้อของ พอหมดโควิด-19 ก็เลยเกิดกระแส Revenge Spending 'ช็อปปิ้งล้างแค้น' ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อชดเชยเวลาที่หายไปในช่วงโควิด

แต่จีนกลับเกิดกระแส Revenge Saving หรือ ‘ประหยัดล้างแค้น’ เยาวชนจีนประหยัดถึงขนาดไปกินตามโรงอาหารผู้สูงอายุซึ่งราคาถูกมาก กระแสที่มาแรงอีกอย่างคือการซื้ออาหารที่ใกล้หมดอายุ ห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าที่ใกล้หมดอายุจากโรงงาน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เปิดสาขาไปตามเมืองต่างๆอย่างรวดเร็ว สินค้าที่ใกล้หมดอายุราคาถูกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 3 ของราคาเต็ม แม้ว่าจะเป็นสินค้าเก่าแต่ยังทานได้อย่างปลอดภัย

แม้แต่คนจีนในแผ่นดินจีนเองยังตามกระแสของคนจีนเองไม่ค่อยทัน ต้องปรับตัวและพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลา นักธุรกิจต่างชาติที่มาลงหลักปักฐานในประเทศจีนที่ปรับตัวช้ามีความเสี่ยงสูงครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม