เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันที่ 16 ก.ค.2537 นักดาราศาสตร์ได้เฝ้าดูชิ้นส่วนแรกของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 (Shoemaker–Levy 9) พุ่งชนดาวพฤหัสบดีด้วยพลังที่น่าตื่นตระหนก เหตุการณ์นี้จุดประกายความสนใจถึงการป้องกันดาวเคราะห์ มีคำถามเซ็งแซ่ว่ามนุษย์จะทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้การชนแบบนี้เกิดขึ้นกับโลกของเรา

ปัจจุบันเราได้เห็นแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวิธีรับมือกับวัตถุอวกาศที่มีแนวโน้มจะพุ่งชนโลก เช่น โครงการดาร์ทขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ที่การทดสอบการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส (Dimorphos) ด้วยการพุ่งชนเมื่อปี 2565 ล่าสุดโครงการความปลอดภัยทางอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป ได้รับอนุญาตให้เริ่มเตรียมการภารกิจป้องกันดาวเคราะห์ที่ชื่อ “ราพิด อะโพฟิส มิสชัน ฟอร์ สเปซ เซฟตี” (Rapid Apophis Mission for Space Safety-Ramses) หรือ “ภารกิจรามเสส” โดยรามเสสจะพบกับดาวเคราะห์น้อย 99942 อะโพฟิส (99942 Apophis) ก่อนที่มันจะโคจรผ่านโลก และติดตามดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ระหว่างการเคลื่อนผ่าน เพื่อสังเกตว่าอะโพฟิสถูกบิดเบือนการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเผชิญกับแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมาจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวิธีปกป้องโลกจากวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกันที่คาดว่าจะพุ่งชนในอนาคต ซึ่งรามเสสต้องปล่อยยานในเดือน เม.ย.2571 เพื่อให้ไปถึงอะโพฟิสได้ในเดือน ก.พ.2572

ส่วนดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส มีข้อมูลระบุว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 375 เมตร ขนาดเท่ากับเรือสำราญ จะโคจรมาใกล้พื้นผิวโลกที่ระยะ 32,000 กิโลเมตร ในวันที่ 13 เม.ย.2572 ผู้คนประมาณ 2,000 ล้านคนในทวีปยุโรป แอฟริกา และบางส่วนของเอเชีย สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลาสั้นๆตอนท้องฟ้ามืด ทั้งนี้ การโคจรผ่านมาของอะโพฟิสในอีกกว่า 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หายากมาก.

...

Credit : ESA-Science Office

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่