ลำดับเวลาของประชากรที่อาศัยในทวีปอเมริกาเป็นประเด็นโต้แย้งมานาน ขณะที่บทบาทของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่จำนวนมากในทวีปอเมริกาก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเช่นกัน ล่าสุด นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาปลาตา ในอาร์เจนตินา เผยผลวิจัยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคก่อนประวัติศาสตร์ชื่อ Neosclerocalyptus ที่ขุดพบจากริมฝั่งแม่น้ำเรกองกิสตา ใกล้กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ได้ไขความกระจ่างถึงลำดับเวลาที่มนุษย์เข้ามาอาศัยในภูมิภาคนี้

Neosclerocalyptus ถูกอธิบายว่าเป็นสัตว์ลูกด้วยนมกินพืชมีเกราะขนาดใหญ่ เป็นสมาชิกในกลุ่มกลิปโตดอน (Glyptodon) อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกามานานกว่า 30 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์เมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน นักมานุษยวิทยาเผยว่าฟอสซิลนี้คือกระดูกตัวนิ่มขนาดใหญ่ การหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตภาพ รังสีระบุว่าฟอสซิลมีอายุประมาณ 21,000 ปี รอยบาดบนกระดูกเชิงกราน หาง และเกราะ บ่งบอกว่าถูกตัดด้วยเครื่องมือหิน เป็นหลักฐานว่ามนุษย์อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอเมริกาใต้เร็วกว่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ และร่องรอยการใช้เครื่องมือหิน คือหลักฐานที่ชัดเจนของการมีอยู่ของกลุ่มมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) บรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่พบฟอสซิลของมนุษย์ในบริเวณดังกล่าวก็ตาม
...

ทั้งนี้ Glyptodonts มีความเกี่ยวข้องกับตัวนิ่มที่มีในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่กว่ามากก็ตาม โดยบางชนิดก็ใหญ่เท่ากับรถยนต์ขนาดเล็ก พวกมันมีกระดองที่เป็นกระดูกขนาดใหญ่ ปกคลุมร่างกายคล้ายกระดองเต่า มีเกราะบนศีรษะ หางใหญ่แข็งแรง แขนขาสั้น ขณะที่ Neosclerocalyptus เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เล็กกว่า และฟอสซิลที่ถูกวิจัยนี้มีความยาวประมาณ 180 เซนติเมตร หนักราว 300 กิโลกรัม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่