พิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 กรุณาส่งข้อมูลมาให้ผมศึกษาเป็นประจำ ล่าสุดคุณพิพัฒน์และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดแนะนำให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าในจังหวัดตราด 2 แห่ง คือบ้านทับทิมสยาม 01 ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ และบ้านเขาวง ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่

ข้ามบ้านทับทิมสยาม 01 ไปฝั่งกัมพูชาก็เจอ ต.ตาโต๊ก อ.สัมรูด จ.พระตะบอง หมู่บ้านฝั่งไทยมีประชากร 712 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานที่อื่น ในพื้นที่จึงเหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ทว่า ต.ตาโต๊ก ของกัมพูชามีประชากร 4,000 คน หากเปิดจุดผ่อนปรนการค้าจะเพิ่มความเจริญทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นและจะเป็นแนวกันชนไม่ให้เกิดการรุกล้ำดินแดนเข้ามา เหมือนกรณีบ้านสามหลังที่ล้ำแดนไทย ซึ่งทำให้จุดผ่อนปรนพิเศษที่บ้านท่าเส้น ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งตรงกับบ้านทมอดา อ.เวียงเวล จ.โพธิสัตว์ เกิดไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลไทยราดยางถนนสี่เลนเสร็จมาหลายปีแล้ว ติดปัญหาการรุกล้ำชายแดน

ข้ามบ้านเขาวงไปก็เจอ ต.ปากคลอง อ.มณฑลสีมา จ.เกาะกง ที่นี่กำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่แม่น้ำคางคลืน 2 แห่ง เสร็จแล้ว ก็จะมีคนทำงานในโรงไฟฟ้าแห่งละประมาณ 1,000 คน เมื่อรวม กับคนที่อยู่ดั้งเดิมแล้ว บ้านเขาวงจะมีเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

จุดผ่อนปรนการค้าบางแห่งให้ประโยชน์แก่ท้องถิ่นมากกว่าด่านถาวร เพราะเมื่อคนกัมพูชาเข้ามาทางด่านถาวรแล้ว ก็เดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นได้ ไปซื้อของที่กรุงเทพฯ ไปเที่ยวพัทยาที่มีทั้งสวนนงนุชและสถานบันเทิง ซึ่งตอบโจทย์ให้ชาวกัมพูชามากกว่าตราด เนื่องจากตราดมีแค่ทะเลเพียงอย่างเดียว

แต่ชาวกัมพูชาที่เข้ามาโดยผ่านจุดผ่อนปรนทางการค้าต้องซื้อสินค้าจากพ่อค้าท้องถิ่นและท่องเที่ยวภายในตัวจังหวัดตราดเท่านั้น ไม่สามารถเดินทางออกจากตัวจังหวัดตราดได้ เงินจากกัมพูชาก็ไหลเวียนเฉพาะในท้องถิ่นจังหวัดตราด

...

คนตราดมีรายได้จากการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งขาดแคลนแรงงานมาก หากชาวกัมพูชาที่เข้ามาตราดโดยผ่านด่านถาวรก็จะไปทำงานจังหวัดอื่นที่ค่าแรงแพงกว่า อย่างระยอง ชลบุรี หรือกรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นจุดผ่อนปรนฯ แรงงานกัมพูชาจะถูกให้อยู่แต่ในจังหวัดตราด ทำให้มีแรงงานพอเพียงที่จะใช้ในการช่วยทำงานสร้างผลผลิตให้จังหวัด

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคุณพิพัฒน์และคณะกำลังผลักดันก็คือ การก่อสร้างถนนเฉลิมบูรพาชลทิตจากจันทบุรีข้ามแม่น้ำเวฬุไปจนถึงตราด เรื่องนี้ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ต.ท่าโสม ต.บางปิด จ.ตราด และ ต.บางชัน จ.จันทบุรีแล้ว ต่อมานายประดิษฐ์ ดีทองอ่อน ผอ.ทางหลวงชนบทตราดขณะนั้นได้นำภาคเอกชนและชาวบ้านสำรวจพื้นที่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของบประมาณและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกรมทางหลวงชนบท

ถนนเฉลิมบูรพาชลทิตครอบคลุมตั้งแต่ระยองไปจนถึงจันทบุรี ถ้าขยายไปครอบคลุมชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลระดับสากลอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยจะบูมตูมตามอย่างรวดเร็ว ทำให้จันทบุรีและตราดไม่ต้องพึ่งเฉพาะเกษตรและประมง แต่จะมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวและจากการทำที่พักอาศัยให้ชาวต่างชาติเช่าทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งแบบ ชั่วคราวและถาวร

เศรษฐกิจเวียดนามกำลังบูมตูมตามตั้งแต่เหนือจรดใต้ หากมีการพัฒนาเชื่อมต่อเส้นทางจากตราดเข้ากัมพูชาและต่อไปยังเวียดนามตอนใต้ ตอนกลางและตอนเหนือ ต่อเข้าไปยังจีน ก็จะเป็นโอกาสของการเชื่อมต่อเพื่อการพัฒนาในหลายมิติ เศรษฐกิจเวียดนามโตติดต่อกันมาหลายปี ค.ศ.2023 โตร้อยละ 5.9 ปี 2024 คาดว่าโตร้อยละ 7.4 (ด้านอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามปีนี้คาดว่าโตถึงร้อยละ 7)

ศึกษาข้อมูลที่คุณพิพัฒน์ส่งมาให้ดูแล้ว ผมเห็นด้วยทุกประเด็น อยากให้ผู้คนในรัฐบาลสนใจในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลกปรารถนาให้คนตราดยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอแต่ของหรือเงินแจก ของหรือเงินแจกไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม