ทีมแพทย์ในสหรัฐฯ อ้าง สามารถลดอาการออทิสติกระดับรุนแรงของเด็กหญิงคนหนึ่ง ไปจนถึงระดับที่ไม่ต่างจากคนทั่วไปได้ ด้วยวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

สำนักข่าว telegraph รายงานว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในเมืองบัลติมอร์ ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการย้อนกลับโรคออทิสติกระดับรุนแรง และลดอาการป่วยจนถึงระดับที่ ไม่สามารถจำแนกจากคนทั่วไปได้

เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในรายงาน “การย้อนคืนอาการป่วยออทิสติกในเด็กแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบผ่านวิธีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและรูปแบบการดำเนินชีวิตส่วนตัว” ในวารสาร ‘Sexes’ ซึ่งเผยแพร่ผ่านสถาบัน ‘MDPI’

ทีมแพทย์ทำการศึกษาทารกแฝดไข่คนละใบเพศหญิง 2 คน ซึ่งคลอดก่อนกำหนด 2 เดือน ก่อนที่พวกเธอจะได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการออทิสติก ความรุนแรงระดับ 3 (Level 3 severe) เมื่อเดือนกันยายน 2564 ขณะมีอายุได้เพียง 20 เดือน และต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมาก

พวกเขาจึงตกลงกับพ่อแม่ของเด็ก จัดทำโครงการแทรกแซงระยะเวลานาน 2 ปี เพื่อช่วยให้เด็กๆ เจริญเติบโตได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เด็กทั้ง 2 คน ดีขึ้นอย่างรวดเร็ง เมื่อเทียบกับระดับความรุนแรงของอาการของพวกเธอ

กระบวนการที่เกิดขึ้นกับหนึ่งในเด็กแฝดคนหนึ่ง นามสมมติว่า ‘แฝดพี’ (Twin P) ได้รับการยกย่องจากทีมแพทย์ว่าคือปาฏิหาริย์ เนื่องจากคะแนนแบบประเมินผลการรักษาออทิสติก (ATEC) ของเธอ ซึ่งเคยอยู่ที่ 43 เต็ม 180 ในเดือนมีนาคม 2565 ลดลงเหลือแค่ 4 ในเดือนตุลาคม 2566

“อาการของหนึ่งในเด็กแฝดย้อนกลับไปจนถึงจุดที่ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่ไม่เคยมีประวัติมีอาการออทิสติกมาก่อน” ดร.คริสโตเฟอร์ ดาดาโม ผู้เขียนงานวิจัยฉบับนี้ บอกกับ telegraph “พฤติกรรมของแฝดคนนี้เทียบได้กับผู้ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกมาก่อน”

...

ส่วนแฝดอีกคน นามสมมติว่า ‘แฝดแอล’ (Twin L) ซึ่งเกิดมาด้วยน้ำหนักตัวเพียง 1.58 กก. มีคะแนน ATEC ถึง 76 ก็ลดลงมาเหลือ 32 คะแนนภายใน 1 ปีครึ่ง โดย ดร.ดาดาโม ระบุว่า เป็นพัฒนาอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มากนัก

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ไม่ใช้คำว่า “รักษา” ในโครงการของพวกเขา แต่เชื่อว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ไม่น่าจะถดถอยกลับลงไปอีกตามกาลเวลา

“เพราะว่าออทิสติกเป็นอาการด้านพัฒนาการ จึงสามารถพูดได้ว่า เมื่อพวกเขาก้าวข้ามปัญหาด้านพัฒนาการต่างๆ ของออทิสติกไปได้ และกลับสู่แนวโน้มพัฒนาการตามปกติ พวกเขาก็ไม่น่าจะแสดงอาการที่พบได้ทั่วไปของออทิสติกออกมาอีก” ดร.ดาดาโม กล่าว

“อาการที่อาจกลับมาได้น่าจะเป็นอาการจำพวก ความวิตกกังวล, ปัญหาด้านทางเดินอาหาร หรือ อารมณ์ความรู้สึก แต่นั่นไม่จำเป็นต้องเป็นลักษณะพฤติกรรมของอาการออทิสติกเสมอไป”

ทั้งนี้ ในโครงการของทีมแพทย์ ฝาแฝดทั้ง 2 คนต้องผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรม, บำบัดการพูด และรับสารอาหารกับอาหารปลอดกลูเตนอย่างเข้มงวด เพื่อลดการอักเสบ

อาหารดังกล่าวจะปราศจากเคซีน (casein) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในนม, มีน้ำตาลต่ำ, ไม่แต่งหรือย้อมสี และไม่ใช่อาหารแปรรูปสูง โดยจะเน้นวัตถุดิบออร์แกนิกและวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นหลัก เด็กๆ ยังต้องรับอาหารเสริมอย่าง กรดไขมันโอเมก้า 3, วิตามินรวม, วิตามินดี, คาร์นิทีน และอื่นๆ เป็นประจำทุกวันด้วย

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามของแฝดทั้ง 2 คน ยอมรับว่า พวกเขารู้ว่าไม่มีวิธีรักษาหนึ่งเดียว สำหรับย้อนกลับอาการออทิสติก แต่โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การลดภาระโดยรวมของเด็กทั้ง 2 คน

“แม้จะมียีนคล้ายกัน และการปฏิสนธิ, ช่วงเวลาอุ้มท้อง, ประสบการณ์ตอนเกิด กับปัจจัยหลังคลอดเหมือนกัน เช่นเดียวกันการได้รับประโยชน์จากการดูแลอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมภายในบ้านและครอบครัวที่มีชีวิตชีวา ลูกสาวแต่ละคนก็ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ ASD (ออทิสติกสเปกตรัม) ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

พวกเขาบอกอีกว่า วิธีการรักษาตามธรรมเนียมปฏิบัติมีสถิติการรักษาเด็กจากอาการ ASD ไม่ดีนัก พวกเขาจึงใช้วิธีนอกแบบแผน ทำความเข้าใจลูกสาวแต่ละคนแบบองค์รวม ว่าแต่ละคนต้องการอะไร, สำรวจรากของปัญหา และออกแบบวิธีการสนับสนุนไปตามนั้น

“เราตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมอย่างมากในทุกการแทรกแซงที่เราทำ เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง และอุทิศตัวเพื่อสิ่งที่เรารู้สึกว่า ดีที่สุดสำหรับลูกๆ ของเรา” พ่อแม่ของฝาแฝดระบุในรายงาน “ที่สำคัญที่สุด ประสบการณ์ของเราในฐานะพ่อแม่คือ ความปรารถนาที่จะสร้างและรักษาไว้ซึ่ง สายสัมพันธ์ของความรักและความแน่นแฟ้นกับลูกสาวแต่ละคน และเพื่อเป็นพ่อแม่ต่อไป ไม่ใช่แพทย์”

“ด้วยการใช้วิธีการนี้ เราได้เป็นการฟื้นตัวอย่างใหญ่หลวงของหนึ่งในลูกสาวของเรา ผู้ที่ทุกวันนี้ เป็นเด็กอายุ 4 ขวบที่สดใส, ร่าเริง, กระตือรือร้น และสนุนสนานอย่างมาก”

“เรายังคงให้การสนับสนุนลูกสาวอีกคนของเราอย่างแน่วแน่ ซึ่งกระบวนการฟื้นตัวของเธอก็ทำให้เรารู้สึกทึ่งตลอด และย้ำเตือนเราว่า การฟื้นตัวนั้นเป็นไปได้ตามจังหวะของแต่ละคน”

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : telegraph