บังกลาเทศประกาศเคอร์ฟิว สลายการชุมนุม หลังตร.ปราบม็อบประท้วงเดือดไม่สำเร็จ ทำผู้ชุมนุมตายสลด อย่างน้อย 105 ศพ บาดเจ็บหลายพันคน ขณะที่รบ.ยังตัดอินเทอร์เน็ต ตัดขาดบังกลาเทศกับโลกภายนอก
สถานการณ์ประท้วงในบังกลาเทศน่าวิตก รัฐบาลบังกลาเทศต้องประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. 2567 และส่งทหารสลายม็อบนำโดยนักศึกษา ซึ่งออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการจัดสรรงานภาครัฐ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ลุกลามจากในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงธากา เมืองหลวงบังกลาเทศ ไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ และก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุมช่วง 5 วันที่ผ่านมา แต่ไม่สำเร็จ จนเกิดการปะทะกับม็อบ เป็นเหตุให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 105 ศพ บาดเจ็บหลายพันคน
...
รัฐบาลบังกลาเทศได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านหรือเคหสถาน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 ก.ค. จนถึงเวลา 10.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. ขณะที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิว เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน-14.00 น. เพื่อให้ประชาชนสามารถออกมาซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็น
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ก.ค. 2567 กองทัพบังกลาเทศได้ส่งกำลังทหารเดินลาดตระเวนตรวจตราบนถนนสายสำคัญหลายสายในกรุงธากา หลังเกิดเหตุตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมเป็นเวลา 5 วัน ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศยังคงตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงทำให้การส่งข้อความทางมือถือไม่สามารถใช้การได้มาตั้งแต่วันพฤหัสฯ ที่ 18 ก.ค. 2567 ซึ่งถือเป็นการตัดขาดชาวบังกลาเทศจากโลกภายนอก ขณะที่ตำรวจได้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ที่ไม่เกรงกลัวรัฐบาลซึ่งออกคำสั่งห้ามมีการชุมนุม
ตามรายงานของโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงธากา เปิดเผยว่า การปะทะกันระหว่างม็อบกับตำรวจที่พยายามสลายการชุมนุม ในช่วงสัปดาห์นี้ เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 105 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคนจากเหตุการณ์ชุมนุมในหลายแห่งทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลวิทยาลัยการแพย์ธากา ระบุว่า ทางโรงพยาบาลได้รับร่างผู้เสียชีวิตถึง 27 ศพ ในช่วงเวลาระหว่าง 17.00-19.00 น. วันศุกร์ที่ 19 ก.ค.
ทั้งนี้ การประท้วงในบังกลาเทศ ซึ่งนำโดยนักศึกษา เริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยธากา ในกรุงธากา เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม โดยตอนแรก เป็นการประท้วงอย่างสงบ ทว่าต่อมา ม็อบได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. และการชุมนุมประท้วงได้ขยายไปยังมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในกรุงธากา และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ จนนับเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุด ขณะนางชีค ฮาสินา ชนะเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้ และได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4
...
ส่วนสาเหตุที่นักศึกษาบังกลาเทศได้ออกมารวมตัวกันชุมนุมประท้วงคัดค้านระบบโควตางานภาครัฐนั้น เป็นเพราะได้สงวนตำแหน่งงานภาครัฐ 30% ไว้สำหรับครอบครัวทหารผ่านศึกในสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถาน เมื่อปี 2514โดยนักศึกษาหลายพันคนที่ออกมาชุมนุมประท้วงด้วยความโกรธนั้น เห็นว่าระบบโควตานี้ เป็นการเลือกปฏิบัติและงานในภาครัฐควรเปิดรับสมัครโดยพิจารณาจากคุณวุฒิและการสอบแข่งขัน
โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ได้เคยระงับระบบโควตาการทำงานภาครัฐในปี 2561 แต่ต่อมา ศาลสูงได้คืนสถานะให้ระบบโควตาการทำงานภาครัฐ กลับมามีผลบังคับใช้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลบังกลาเทศยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ในขณะที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งระงับคำสั่งศาลสูง และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐบาล ซึ่งกำหนดจะมีการรับฟังคำอุทธรณ์ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
ที่มา : Reuters